กาฬสินธุ์ประกาศพื้นที่ควบคุมโรคปากเท้าเปื่อยระบาดชั่วคราว หลังพบโคติดเชื้อ 4 ตัว

กาฬสินธุ์ประกาศพื้นที่ควบคุมโรคปากเท้าเปื่อยระบาดชั่วคราว หลังพบโคติดเชื้อ 4 ตัว

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงผ่อนปรนโควิด-19 ระยะ 4 ซึ่งอยู่ในระหว่างฤดูกาลทำนาและมีการเลี้ยงสัตว์ พบว่าสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทุกคนเริ่มผ่อนคลายจากการป้องกันการได้รับเชื้อโควิด-19 มากขึ้น แต่ยังคงปฏิบัติตนและรักษามาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้กลับพบว่าได้เกิดการระบาดของโรคติดต่อของสัตว์เลี้ยง คือโรคปากเท้าเปื่อยระบาดในโค โดยพบในพื้นที่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 4 ตัว ทั้งนี้ เกษตรกรได้แจ้งอาสาปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบและทำการฉีดวัคซีน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด รวมทั้งให้คำแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ทำการแยกฝูง สังเกตอาการ พร้อมประกาศพื้นที่ควบคุมโรคปากเท้าเปื่อยระบาดชั่วคราว

นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของการป้องกันโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะปากเท้าเปื่อยในโคและกระบือนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่อาสาปศุสัตว์ในพื้นที่เฝ้าระวัง และทำการฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาจึงสามารถป้องกันและควบคุมโรคปากเท้าเปื่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุทินกล่าวอีกว่า ในกรณีที่พบโรคปากเท้าเปื่อยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งพบในช่วงเดียวกันจำนวน 4 ตัวนั้น จากการสอบสวนโรคพบว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์วิด-19 ที่มีการปิดตลาดนัดโค-กระบือ หรือห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงนั้น ไม่มีรายงานการพบโรค แต่หลังจากผ่อนปรนโควิด-19 และอนุญาตให้เปิดตลาดนัดโค-กระบือตามปกติ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามจังหวัด จึงพบการเกิดโรคปากเท้าเปื่อยดังกล่าว ซึ่งทางปศุสัตว์จะได้เพิ่มมาตรการควบคุมและป้องกันอย่างเคร่งครัดต่อไป

Advertisement

นายสุทินกล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เฝ้าระวังอาการของสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เช่น หากพบสัตว์เลี้ยงน้ำลายไหลยืด ไม่กินอาหาร หรือเดินขากะเผลก ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นอาการของโรคปากเท้าเปื่อย ให้ทำการแยกฝูง และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อที่จะได้เข้าไปตรวจสอบและฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย

อย่างไรก็ตาม โรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์เลี้ยง ไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่คนอาจจะเป็นพาหะทำให้เกิดโรคระบาดทางอ้อม หากทำการชำแหละสัตว์เลี้ยงที่มีอาการของโรคปากเท้าเปื่อยไปรับประทาน และทำการชะล้าง เชื้อโรคปากเท้าเปื่อยที่แอบแฝงในเนื้อสัตว์อาจปะปนไปกับน้ำ แพร่กระจายลงพื้นดิน หญ้า แหล่งน้ำ และอาจเกิดการแพร่ระบาดไปสู่สัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ได้ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคน ร่วมกันระวังโรคปากเท้าเปื่อยระบาดในช่วงนี้ หากพบสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image