‘สภาเกษตรกรแห่งชาติ’ เตรียมถกหาทางออกหวังจัดระเบียบปัญหาใช้ ‘ลิงกังเก็บมะพร้าว’

‘สภาเกษตรกรแห่งชาติ’ เตรียมถกหาทางออกหวังจัดระเบียบปัญหาใช้ ‘ลิงกังเก็บมะพร้าว’

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายสายชล ชนะภัย รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านพืชสวน เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมปริมาณผลผลิตมะพร้าวในจังหวัดยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ราคาผลผลิตในปัจจุบันถือว่ายังมีราคาดี อยู่ที่ผลละประมาณ 14 บาท จากการพูดคุยกับเกษตรกรบางรายรู้สึกเป็นกังวลผลกระทบราคามะพร้าว หากตลาดต่างประเทศระงับการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำกะทิจากไทยโดยอ้างว่ามีการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทรมานสัตว์ ทั้งที่ในความเป็นจริงการเลี้ยงลิงกังเพื่อเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตของคนไทย และคนเลี้ยงก็ดูแลลิงเหมือนคนในครอบครัว ไม่ได้ทรมานสัตว์แต่อย่างใด

“ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ มีการประชุมคณะกรรมการสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะมีการหยิบยกกรณีดังกล่าวหารือในที่ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางเสนอภาครัฐ ส่วนตัวมองว่าการเป็นโอกาสดีในการจัดระเบียบการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว เช่น อาจจะมีการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงลิงกังเพื่อให้ทราบจำนวนที่ชัดเจน มีการจัดอบรมผู้เลี้ยง ออกข้อปฏิบัติ ในการใช้แรงงานสัตว์ภาคการเกษตร เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติได้ และยอมรับว่าการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวยังจำเป็นสำหรับสวนมะพร้าวบางแห่งที่มีต้นมะพร้าวอายุมากขนาดความสูงมากกว่า 25 เมตรขึ้นไป และสวนมะพร้าวที่มีการปลูกพืชผสมผสานหลายชนิดเนื่องจากไม่สะดวกในการใช้แรงงานคนสอยมะพร้าว สำหรับการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวในจังหวัดมีไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมดกว่า 4 แสนไร่”นายสายชล กล่าว

นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ ( กมธ.) ศึกษาและแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า องค์กรด้านสัตว์ป่าต่างประเทศไม่ได้สนใจเรื่องการใช้กังจะเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วย หากจะอ้างปัญหาการใช้ลิงกัง เพื่ออนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวนอก เข้ามาทดแทนผลิตเพื่อส่งออกตามกรอบการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า อัตราภาษีนำเข้าศูนย์เปอร์เซ็น โดยอ้างว่ามะพร้าวเวียดนามและอินโดนีเซียใช้แรงงานคนเป็นหลัก หรือ ปัญหาโรงงานกะทิแปรรูปอ้างว่าปัจจุบันขาดแคลนแรงงานกะเทาะมะพร้าว เนื่องจากการนำเข้าจะมีผลกระทบทำให้ราคามะร้าวในประเทศตกต่ำเหมือนในอดีต

นายประมวล กล่าวว่า สำหรับการแบนกะทิที่ส่งออกจากประเทศไทยเป็นเรื่องเก่า หลังจากเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ตนได้เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่ของประเทศ รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตน้ำกะทิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่บริษัท นิลทองแท้ โคโคนัท จำกัด ต.อ่างทอง อ.ทับพะแก กรณีองค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าหรือพีต้า แสดงข้อมูลการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวและพบว่าหลังสุ่มตรวจ มีการใช้จริง นอกจากนั้นยังมีปัญหาจากคู่ค้ามะพร้าวจากประเทศสหรัฐอเมริกาสอบถามเรื่องนี้มายังโรงงานแปรรูปกะทิในไทย ซึ่งอาจจะกระทบถึงการค้ามะพร้าวในอนาคต แต่ทราบว่าจากนั้นโรงงานกะทิได้ทำหนังสือชี้แจงและจัดทำคลิปวิดีโอรายงานให้ทราบแล้ว

Advertisement

“ในการประชุมดังกล่าว บริษัทเทพผดุงพรฯเสนอให้โรงงานกะทิทำสัญญาบันทึกข้อตกลงกับผู้รวบรวมมะพร้าวหรือล้ง ว่าไม่เกี่ยวกับการใช้แรงงานลิงกังที่มีเพียง 5 % ของผลผิตทั้งหมด รวมทั้งชาวสวนรายย่อยต้องทำสัญญาด้วย และหากมีการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวจริง ให้แยกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวห้ามส่งออกไปสหรัฐอเมริกาโดยเด็ดขาด โดยให้แยกผลผลิตไปจำหน่ายเป็นมะพร้าวหัวขูดบริโภคภายในประเทศ ขณะที่บริษัทแจ้งว่าจะร่วมกับเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดออกสำรวจพื้นที่ในเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคมนี้และจะสุ่มตรวจในจังหวัดสุราษฎร์ธานีในเดือนถัดไป” นายประมวล กล่าว

นายประมวล กล่าวว่า สำหรับโรงงานผลิตกะทิส่งออก ในอนาคตต้องทำบันทึกข้อตกลงกับล้งมะพร้าว หรือชาวสวน เพื่อจัดทำบาร์โค้ดบนฉลากสินค้ากะทิกล่องให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ วันเดือนปีที่ผลิต แหล่งที่มาของวัตถุดิบก่อนการแปรรูป นำไปสู่การตรวจสอบย้อนหลังว่าแหล่งผลิตวัตถุดิบมีการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวหรือไม่ หากโรงงานกะทินำมะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแปรรูปผลิตเพื่อส่งออกโรงงานกะทิก็ต้องชี้แจงข้อมูลตามข้อเท็จจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image