เพชรบูรณ์ ลุ้นเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ กระตุ้นสำนึกในการอนุรักษ์ ‘วิศัลย์’ มั่นใจผ่านการประเมิน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ก้าวสู่ระดับประเทศ ว่า หลังจากการประกาศให้อุทยานธรณีเพชรบูรณ์เป็นอุทยานฯระดับจังหวัดแล้ว ก้าวต่อไปคือการเป็นอุทยานฯระดับประเทศ ซึ่งหลังจากมีการส่งผลงานและข้อเสนอถึงคุณค่าความเป็นอุทยานระดับประเทศตามข้อกำหนดไปยังคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดได้มีทีมประเมินภาคสนามลงพื้นที่เพื่อทำการประเมินศักยภาพและความพร้อมแหล่งธรณีวิทยาทั้ง 22 แหล่งใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง, หล่มสัก, น้ำหนาว ตามเกณฑ์ชี้วัดไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าหากไม่มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย ผลการประเมินน่าจะทราบในราวเดือนสิงหาคมนี้ และคาดการณ์ว่าเพชรบูรณ์คงจะได้รับการประกาศรับรองให้อุทยานธรณีเพชรบูรณ์เป็นอุทยานฯระดับประเทศ จากนั้นก้าวสำคัญต่อไปก็คือ การผลักดันให้เพชรบูรณ์ก้าวสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับโลก

นายวิศัลย์กล่าวว่า สิ่งที่จะได้รับหลังการเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศก็คือ สำนึกในการอนุรักษ์ เดิมชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเพชรบูรณ์มีของดีอะไร ถือว่าเป็นจุดสำคัญมาก เมื่อเกิดอุทยานธรณีขึ้นทำให้เกิดการกระตุ้นและหันมามอง ทำให้รู้คุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังเกิดความภาคภูมิใจที่มีแหล่งธรณีไม่ธรรมดา มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคบรรพกาลทำให้เกิดสำนึกรักบ้านเกิด และ ที่สำคัญจะได้เชื่อมโยงเรื่องราวเกี่ยวกับ ธรณีวิทยา ให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชน เพื่อการกินดีอยู่ดีของชาวเพชรบูรณ์

“พื้นที่เพชรบูรณ์เป็นรอยต่อสำคัญของทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องวัฒนธรรม เรื่องการเมืองการปกครอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องประจวบเหมาะกับอนุทวีป หรือเปลือกโลก 2 แผ่นเคลื่อนตัวเข้าหากัน ทำให้พื้นที่เพชรบูรณ์เดิมซึ่งเคยเป็นก้นทะเลลึกถูกดันยกตัวขึ้นมา ทำให้มีสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จนเกิดความโดดเด่นในเรื่องความหลากหลายในพื้นที่เพชรบูรณ์ ตั้งแต่ก้นทะเล สัตว์ดึกดำบรรพ์ ธรณีสัณฐานจำพวกหินดินทรายที่เกิดความแปลกพิสดารขึ้นต่างๆ อาทิ แคนยอนน้ำหนาว หรือแม้กระทั่งเลยดั้นก็เช่นกัน และหมวดหินที่บ่งบอกความเป็นทะเลกลายมาเป็นบก เช่น หมวดหินน้ำดุกมาเป็นห้วยหินลาด ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าเพชรบูรณ์มีพัฒนาการต่อเนื่อง จากทะเลกลายมาเป็นชายทะเลเป็นพื้นดินเป็นภูเขา” นายวิศัลย์กล่าว

Advertisement

ผอ.อุทยานธรณีเพชรบูรณ์กล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งธรณีวิทยาในระดับจังหวัดทั้ง 11 อำเภอ มี 22 แหล่ง แต่เมื่อก้าวสู่ระดับประเทศ ทางคณะกรรมการให้ข้อชี้แนะว่าอาจจะใหญ่ไป ควรจำกัดขอบเขตลงมา และเมื่อผ่านการเป็นอุทยานฯระดับประเทศ ค่อยขยายไปยังอำเภออื่นๆ ทำให้การเสนอเป็นอุทยานระดับประเทศจึงครอบคลุมใน 3 อำเภอก่อน ได้แก่ อ.เมือง, หล่มสัก และน้ำหนาว โดย อ.เมือง เป็นจุดรวม อ.หล่มสัก เป็นดินแดนวัฒนธรรมไทหล่ม ส่วน อ.น้ำหนาว เป็นดินแดนมหัศจรรย์ธรรมชาติทางธรณีวิทยา สำหรับแหล่งธรณีในอำเภออื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันอีก 7 แหล่งก็จะเป็นจีโอไซต์ (แหล่งธรณี) ที่จะถูกผนวกเข้ามากับอุทยานธรณี เพื่อร้อยเรียงเชื่อมโยงถึงความเป็นอุทยานธรณีเพชรบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image