‘ทางหลวง’ ปัดฝุ่นโครงการอุโมงค์ทางลอดโคราช 800 ล้าน แก้รถติดในเมือง ชี้หากผ่านอีไอเอ สร้างเร็วสุดปี’66

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมซิตี้พาร์ค ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กรมทางหลวง ร่วมกับ จ.นครราชสีมา จัดการประชุมเพื่อ หารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับทางหลวงหมายเลข 224 (แยกราชสีมา) โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้ร่วมประชุม ประกอบด้วย นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2, ตัวแทนกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักแผนงานกรมทางหลวง, ตัวแทนบริษัทธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด, ตัวแทนบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสซันนอล จำกัด, ตัวแทนเทศบาลนครนครราชสีมา, ตัวแทนหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ร่วมประชุมกว่า 250 คน

นายพรชัยกล่าวว่า กรมทางหลวงมีแนวคิดในการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และทางหลวงหมายเลข 224 บริเวณสามแยกนครราชสีมา ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและติดขัดมาก แต่จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการพบว่า มีแหล่งโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บ้านสำโรงจันทร์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และประตูชุมพล ซึ่งทำให้โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนการพัฒนาโครงการ ดังนั้น ทางกรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างบริษัทธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทซิตี้ แพลน โปรเฟสซัลนอล จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายพรชัยกล่าวว่า โครงการอุโมงค์ทางลอดบริเวณดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนาโครงการเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงพื้นที่โครงการน้อยที่สุด ซึ่งโครงการนี้มีรูปแบบเป็นอุโมงค์ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างภายใน 9.10 เมตร ตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) รองรับการจราจรในทิศทางที่มาจากจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวขวาไปจังหวัดสระบุรี และในถนนระดับดินมีการควบคุมทิศทางการเดินรถด้วยสัญญาณไฟจราจร ระยะทางรวมของโครางการ 1.189 กิโลเมตร

Advertisement


“รูปแบบอุโมงค์ จะมีขนาด 2 ช่องจราจร มีช่องจราจร 3.25 เมตร และมีทางเท้ากว้าง 1 เมตร ซ้อนทับกับแนวทางหลวงหมายเลข 2 ในทิศทางจากจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวขวาไปจังหวัดสระบุรี มีความสูงช่องลอดไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ความลาดชันของอุโมงค์ร้อยละ 4 ความยาวอุโมงค์ 929 เมตร ความยาวอุโมงค์ช่วงปิด 126 เมตร สามารถรองรับความเร็วออกแบบได้ 50 กม./ชม. ภายอุโมงค์จะมีไฟส่องสว่าง และระบบระบายน้ำด้วยการติดตั้งปั๊มน้ำจำนวน 5 เครื่อง”
นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวอีกว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก สำหรับการรับฟังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าหากก่อสร้างโครงการนี้แล้วจะมีผลกระทบอะไรบ้าง เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และโบราณสถาน เป็นต้น เพื่อนำไปประกอบเป็นข้อมูลในการศึกษาและวางแผนโครงการก่อสร้างต่อไป โดยโครงการนี้เคยมีการออกแบบไว้เมื่อปี 2550 เฉพาะงานโยธาก่อสร้างต้องใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท แต่โครงการได้ยืดเยื้อมานานก็ยังไม่ได้ก่อสร้าง มาจนถึงวันนี้ 13 ปีแล้ว จึงได้มีการรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่ จึงทำให้มูลค่าการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 800 ล้านบาท แต่หากมีการเพิ่มการออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สวยงามขึ้น ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งหลังจากนี้ก็จะได้นำความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ไปศึกษาก่อนภายใน 1 ปี เพื่อเดินตามแผน ซึ่งหากผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แล้ว ก็จะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างต่อไป ถ้าผ่าน EIA เร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2566 แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image