‘โคราช’ยังน่าห่วง ฝนหนักแต่กักเก็บน้ำน้อย อ่างขนาดใหญ่และกลางเหลือน้ำใช้แค่ 16%

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำของจ.นครราชสีมา พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากห้วงปีที่ผ่านมาประสบภัยแลงและฝนทิ้งช่วง ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง ขณะเดียวกันต้องปล่อยจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และอื่นๆ ทำให้ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ของจังหวัด แต่มีปริมาณน้ำฝนไหลลงอ่างน้อย โดยมีปริมาณฝนตกสะสมตั้งแต่ต้นปี 487.60 มิลลิเมตร หรือ 47.01% ทำให้มีน้ำไหลลง 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สะสมทั้งปีอยู่ที่ 107.29 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 8.64% ซึ่งเป็นปริมาณน้ำน้อยมาก เมื่อเทียบความจุกักเก็บที่สามารถรองรับน้ำได้ถึง 1,216.72 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากการสำรวจปริมาณน้ำปัจจุบันในภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด พบ 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 91.95 ล้านลบ.ม. หรือ 29.24 % แต่ใช้การได้เพียง 69.23 ล้านลบ.ม. หรือ 23.73 % ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีน้ำกักเก็บ 35.47 ล้านลบ.ม. หรือ 22.89 % ใช้การได้ 34.75 ล้านลบ.ม. หรือ 22.53 % ,อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี เหลือน้ำ 25.19 ล้านลบ.ม. หรือ 17.81 % ใช้การได้ 18.19 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13.58 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี เหลือน้ำ 37.27 ล้านลบ.ม. หรือ 13.56 % ใช้การได้ 30.27 ล้านลบ.ม. หรือ 11.30%

ขณะที่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัด มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น รวม 64.09 ล้านลบ.ม. หรือ 19.35 % และใช้การได้ 39.51 ล้านลบ.ม. หรือ 12.91 % ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บภาพรวมทั้งจังหวัด อยู่ที่ 253.99 ล้านลบ.ม. หรือ 20.88 % และใช้การได้ 191.97 ล้านลบ.ม. หรือ 16.63 % ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ทำให้อ่างเก็บน้ำฯแต่ละแห่งต้องวางแผนบริหารจัดการอย่างรัดกุม เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด สำรองเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ให้เพียงพอถึงฤดูแล้งปีหน้า ขณะที่หน่วยงานที่ดูแลและจัดการน้ำ ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะเกษตรกรให้ใช้น้ำฝนทำการเกษตรเป็นหลัก และติดตามการคาดการณ์ลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเกิดความสูญเสียจากการปัญหาการขาดแคลนน้ำ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image