พช.ขับเคลื่อนวิชชาลัยทอผ้า สืบสาน-อนุรักษ์ภูมิปัญญา ‘เมืองลุ่มภู’ เชื่อมโยงท่องเที่ยว เสริมเศรษฐกิจฐานราก

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ที่โรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์ อ.เมืองหนองบัวลำภู นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และ นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือสนับสนุนการขับเคลื่อนวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภูระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กับ จังหวัดหนองบัวลำภูโดย มีนายอำพล ลมปลิว พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู นางปลื้มจิต จงศุภวิศาลกิจ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ท่ามกลางเครือข่ายตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการผ้าทอร่วมงาน 150 กลุ่มกว่า 300 คน

จากนั้นนายสมเจตน์ และ นางวิไลวรรณ เยี่ยมชมนิทรรศการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ของจังหวัดหนองบัวลำภู ที่มาจากทั้ง 6 อำเภอด้วยความสนใจต่อลวดลายของผืนผ้าที่สวยงาม นอกจากนั้นภายในงาน ยังมีการแสดงเดินแฟชั่นโชว์เสน่ห์ผ้าหนองบัวลำภู แพรพรรณลุ่มภูสู่สากล ที่มีการสั่งสมถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษผ่านวิถีชีวิตของคนในพื้นถิ่น และถ่ายทอดเป็นลวดลายลงบนผืนผ้า เป็นความงดงามที่ลงตัวด้วยสีสันสวยงาม

สำหรับจังหวัดหนองบัวลำภู มีการสั่งสมภูมิปัญญาด้านการทอผ้ามายาวนาน เป็นวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่นถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยผ้าทอพื้นเมือง ที่ชาวเมืองหนองบัวลำภู มักเรียกและรู้กันว่า ผ้าเมืองลุ่มภู มาจากชื่อเมืองสมัยก่อน เมืองหนองบัวลำภู และกลายมาเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน ซึ่งมีลวดลายเอกลักษณ์ที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้าขิดไหม ผ้าฝ้าย ผ้าฝ้ายมัดหมี่ มีลวดลายเฉพาะ เช่น ลายเชิงเทียน ขิดลายดอกพิกุล ลายกนกนาค ลายเครือเถาวัลย์ ลายประยุกต์ รวมถึงผ้าด้นมือ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้า เช่น ผ้าคลุมไหล่ เสื้อม่อฮ่อม ผ้าขิดสลับหมี่ย้อมคราม

นางวิไลวรรณ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน มีแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวอย่างสมดุล สืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน โดยเพิ่มศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาส ขยายช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ชุมชนหลากหลายยิ่งขึ้น ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 มิถุนายน 2563 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองในทุกวัน ยกเว้นวันที่มีการแต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการ หรือตามความเหมาะสมของท้องถิ่น หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน โดยคำนึงถึงมาตรฐาน การดูแลรักษา ราคาที่เหมาะสม ทั้งยังเป็นการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทย เพื่อให้ผ้าไทยสามารถจำหน่ายและแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน

Advertisement


“กรมการพัฒนาชุมชน มุ่งหวังว่าวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ทั้ง 2 แห่ง จะพัฒนากระบวนการทอผ้าที่ครบวงจร ทั้งด้านกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาดจะทำให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงมากขึ้น ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขด้วยหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงต่อไป” นางวิไลวรรณ กล่าว

นายสมเจตน์ กล่าวว่า อยากให้เพิ่มมูลค่าของราคาผ้าทอและค่าแรงในการทอผ้า ถ้าการทอผ้ามีรายได้ดีคุ้มค่าต่อการทำเป็นอาชีพแล้ว เชื่อว่าลูกหลานจะหันมาทำอาชีพผ้าทอกันมากขึ้น สำหรับผ้าทอหนองบัวลำภูโดยเฉพาะผ้าขิดจากกี่โบราณต้องใช้คนทอถึงสองคน มีความสวยงามขึ้นชื่อมาก งานทอผ้าถือเป็นจิตวิญญาณที่มีกระบวนการต้องเรียนรู้มายาวนานจากอดีตที่ผ่านมา ผ้า คือ ปัจจัยสี คือ เครื่องนุ่งห่ม ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม อยากให้มีการคิดค้นอยู่ตลอด จะทำให้ตลาดมีความหลากหลาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image