รร.เด็กตาบอด ร้องสื่อ เอกชนดัง หลอกขายรถเก่า30ปี ดัดแปลง พังสารพัด แถมไม่รับคืน

รร.เด็กตาบอดร้องเรียน บ.เอกชนดัง หลอกขายรถเก่าทำรถรับ-ส่งนักเรียนต้องซ่อมหลายจุดอันตรายตั้งแต่วันรับรถ แก้ไขไม่จบ ขอคืนรถกลับถูกเอาเปรียบกดราคายับ ครวญโรงเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรม วอนสื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 29 กรกฏาคม ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นายประสม เนาวบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมิกวิทยา มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งอยู่ เลขที่ 128 หมู่ 1 ต.สระพัง อ.เขาย้อย ว่ามูลนิธิธรรมิกชนฯ ได้ซื้อรถบัสรับ-ส่งนักเรียนสภาพใหม่ป้ายแดงจากบริษัทแห่งหนึ่ง แต่กลับได้รับรถที่สภาพไม่ตรงกับสัญญา และถูกเอาเปรียบหลายด้าน โรงเรียน คณะครู และนักเรียน ได้รับความเดือดร้อน และได้รับความไม่เป็นธรรม จึงเดินทางไปตรวจสอบ

นายประสม เปิดเผยว่า รร.ธรรมิกวิทยา (สอนคนตาบอด) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยนายแสวง เอี่ยมองค์ ประธานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอด ในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้ริเริ่ม และมีชาวเพชรบุรีและผู้ใจบุญร่วมบริจาคสร้างโรงเรียน เปิดการเรียนการสอนให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในลักษณะให้เปล่า ตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมี นร.มีความบกพร่องทางการมองเห็นจากทั่วประเทศอยู่ในความดูแลกว่า 60 คน

เมื่อปี 2561 คณะกรรมการมูลนิธิฯ มีมติเห็นว่าเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนตาบอด ในการเดินทางไปเรียนร่วมกับโรงเรียนเขาย้อยวิทยา และโรงเรียนโยธินบูรณะ และในการเดินทางไปจัดหรือร่วมกิจกรรมต่างๆนอกสถานที่ ตลอดจนอำนวยความสะดวกต่อคณะครู ควรจัดซื้อรถบัสขนาดใหญ่เป็นรถโรงเรียน จึงได้ทำสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่ง  แขวงคันนายาว กรุงเทพมหานคร ซื้อรถบัสปรับอากาศ ป้ายแดง ค้างสต๊อก และปรับปรุงใหม่ ยี่ห้อ เมอซิเดส เบนซ์ รุ่น 0114L ขนาด 32 ที่นั่ง ราคารวม 2,395,000 บาท โดยทำสัญญาซื้อ-ขาย เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 มีนายแสวงเอี่ยมองค์ เป็นผู้ซื้อ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดังกล่าว เป็นผู้ขาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2562 บริษัท อมรพันธุ์ฯ ได้นำรถบัสคันดังกล่าวมาส่งมอบ แต่ปรากฏตั้งแต่วันส่งมอบรถคันดังกล่าวมีปัญหามากมายต่อเนื่อง ด้านเครื่องยนต์ บางครั้งสตาร์ทเครื่องไม่ได้ และบางครั้งไม่สามารถดับเครื่องได้ กำลังรถเร่งไม่ขึ้น รถดับขณะวิ่ง เข็มไมล์แสดงความเร็วไม่ตรง พวงมาลัยสั่น ระบบบังคับเลี้ยวตั้งศูนย์ไม่ได้ ช่วงล่างเกิดเสียงดังเวลาเลี้ยว ระบบหล่อเย็นช่องเติมน้ำหม้อน้ำไม่ตรง แอร์ไม่เย็น เครื่องเสียงใช้ไม่ได้ ฯลฯ บริษัทได้ส่งช่างมาดำเนินการแก้ไขหลายครั้งแต่ปัญหาหลายจุดยังคงมีอาการเหมือนเดิม โรงเรียนจึงได้นำรถไปให้ช่างเครื่องซึ่งมีอู่ซ่อมรถใกล้เคียงมาตรวจสอบ ช่างระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรถเก่าประมาณ 30 ปี แรงม้าต่ำ ซึ่งไม่ตรงกับสัญญาซื้อขายที่ระบุเป็นรถใหม่ป้ายแดง วันที่ 6 ก.ย.62 มูลนิธิฯจึงเสนอขอคืนรถ แต่บริษัทดังกล่าว ขอนำรถกลับไปแก้ไข กระทั่งวันที่ 1 ต.ค.62 จึงนำรถกลับมาส่งให้ แต่ปรากฏพบว่ามีปัญหาบางจุดอยู่ อาทิ ตั้งศูนย์ถ่วงล้อไม่ได้ มีน้ำมันเครื่องหยดเวลาจอด เข็มไมล์แสดงความเร็วไม่ตรง ฯลฯ

Advertisement

นายประสม กล่าวต่อไปว่า วันที่ 24 ธ.ค.2562 คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าที่ประชุม และมีความเห็นว่านับตั้งแต่เมื่อมีการส่งมอบรถ รถคันดังกล่าวมีปัญหาด้านต่างๆมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาหลักที่ไม่ควรปรากฏขึ้นในรถใหม่ แม้บริษัทจะได้ดำเนินการแก้ไขให้หลายครั้งแต่รถก็ยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเป็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับ เด็กนักเรียนตาบอด และคณะครูซึ่งเป็นผู้ใช้รถ ที่ประชุมมูลนิธิฯ จึงให้หยุดการใช้รถทันที ประกอบกับบริษัทยังไม่ได้ให้ใบเสร็จของยอดเงินการชำระทั้งหมด แม้มูลนิธิจะได้ทวงถามหลายครั้งก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง และเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับการจดทะเบียนรถไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนรถได้ มูลนิธิฯจึงเห็นว่า บริษัทไม่ได้ส่งมอบรถใหม่ที่พร้อมใช้งานตามปกติให้กับมูลนิธิฯ และบริษัทขาดการทำงานที่เป็นระบบและได้มาตรฐานอันจะมีลักษณะน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงมีมติ ขอบอกเลิกสัญญา โดยขอรับเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืนและขอคืนรถ
ต่อมาบริษัท  โดยนายกรรมการผู้จัดการได้ตอบเอกสารแจ้งว่าทางบริษัทได้ส่งใบเสร็จให้ทางมูลนิธิแล้ว แต่มีความผิดพลาดเรื่องตัวเลขในการรับเงิน ซึ่งจะรับผิดชอบและแก้ไขให้ใหม่ กรณีส่งเอกสารการจดทะเบียนให้ไม่ครบถ้วนจึงทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนรถได้นั้น ชี้แจงว่าได้ส่งเอกสารในการจดทะเบียนใหมูลนิธิแล้ว และจะเข้าไปดำเนินการช่วยจดทะเบียนให้

ส่วนกรณีขอคืนรถนั้น บริษัท เสนอ 3 เงื่อนไข คือ 1.เปลี่ยนรถคันใหม่ให้โดยมีการหักค่าเสื่อมของอุปกรณ์ และ ค่าทำสีใหม่ เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท หรือ 2.จะนำรถไปขายให้กับลูกค้าใหม่ โดยมีการหักค่าเสื่อมของอุปกรณ์ ค่าทำสีใหม่ เป็นจำนวนเงิน 550,000 บาท หรือ 3.จะนำรถมาปรับปรุง และดูแลต่อสัญญาทำประกันให้ใหม่เป็นเวลา 2 ปี และต่อมาวันที่ 25 พ.ค.บริษัท  มีเอกสารฉบับที่ 2 แจ้ง จะรับฝากขายรถจากทางมูลนิธิฯ เป็นรถมือสองในราคา 1,700,000 บาท โดย คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 6- 7 เดือน ในการขายและจะจ่ายเงินให้มูลนิธิ หลังจากที่ดำเนินการขายรถให้เสร็จสิ้น จากนั้นวันที่ 9 ก.ค.บริษัท ช มีเอกสารฉบับที่ 3 แจ้งเปลี่ยนแปลงจะรับฝากขายรถจากทางมูลนิธิฯ เป็นรถมือสองจาก 1.7 ล้านบาท เป็นราคา 1,900,000 บาท โดยคงเงื่อนไขระยะเวลาขายและการจ่ายเงินคืนเหมือนเดิม ซึ่งมูลนิธิฯไม่สามารถรับข้อเสนอดังกล่าวได้เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรม

“ รถคันกล่าวมูลนิธิฯ นำเงินที่ได้รับจากการบริจาคจากผู้มีจิตเป็นกุศล นำไปซื้อรถใหม่นำมาเป็นรถนักเรียนเพื่อต้องการอำนวยความสะดวก และสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียนพิการตาบอดได้ใช้เป็นพาหนะเดินทาง แต่ปรากฏว่าเมื่อหลังจากนำมาใช้งานมีปัญหาเครื่องยนต์และช่วงล่างตลอดมา เมื่อตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถเก่าดัดแปลงมา ไม่ใช่รถใหม่ป้ายแดงตามที่บริษัทกล่าวอ้าง หากใช้งานต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อเด็กๆ ตาบอด เมื่อขอคืนรถก็กลับไม่รับซื้อคืน โดยตรง ต้องเป็นการนำไปฝากขาย ถูกกดราคาลง ทั้งที่เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้เป็นความผิดของมูลนิธิฯ การกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบ ไม่มีมนุษยธรรม และทำให้มูลนิธิฯไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างมาก โรงเรียนธรรมมิกวิทยา และมูลนิธิฯ จึงได้ประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร้องเรียนสื่อมวลชนเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับโรงเรียนธรรมิกวิทยาด้วย ทั้งนี้ โรงเรียน และมูลนิธิฯ จะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับ บริษัทอมรพันธุ์ ต่อไป” นายประสมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image