“บิ๊กเต่า” เปิดงานเสือโคร่งโลก ชมงานส่งเสริมอนุรักษ์ป่า เผยเหลือไม่ถึง 3.5 พันตัว

จังหวัดอุทัยธานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดงานวันเสือโคร่งโลก เดินหน้าแผนอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ 20 ปี เผยประชากรเสือโคร่งป่าห้วยขาแข้ง – ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ลดลงเหลือประมาณ 180 ตัว

 วันที่ 29 ก.ค.59 เวลา 14.30 น. ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานวันเสือโคร่งโลก (Global Tiger Day) ภายใต้แนวคิด ผืนป่าตะวันตก บ้านแห่งความหวังของเสือโคร่งอินโดจีน เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้ประชาชน ร่วมกันอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยนำคณะเอกอัครราชทูต ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และคณะรัฐมนตรี ร่วมวางพวงมาลาอนุสาวรีย์ สืบ นาคะเสถียร โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวรายงาน และมี นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี นายสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและนักเรียน รวมกว่า 500 คน ให้การต้อนรับ
ในงานได้จัดนิทรรศการ สกู๊ปเสือโคร่ง วิดีทัศน์หลักสูตรเสือโคร่งศึกษา และการแสดงจากนักเรียนโรงเรียนอนุบาลลานสัก พร้อมกับจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่และรณรงค์การอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทย พร้อมกับเปิดตัวโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก และกิจกรรมหลักสูตรเสือโคร่งศึกษา กิจกรรมเดินป่าตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบ้านเสือโคร่ง
201607291532134-20140425161738
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ที่ยังมีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่ ได้แก่ บังกลาเทศ, ภูฏาน, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย (สุมาตรา), ลาว, มาเลเซีย, พม่า, เนปาล, รัสเซีย, เวียดนาม และไทย และในปีนี้ประเทศไทยจัดงานวันเสือโคร่งโลก ภายใต้แนวคิด “ผืนป่าตะวันตก บ้านแห่งความหวังของเสือโคร่งอินโดจีน” ขี้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นพื้นที่พบเสือโคร่งมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันคาดว่าทั่วโลกมีไม่เกิน 3,500 ตัว โดยประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นมากสุดที่บริเวณพื้นป่าตะวันตก โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่ในปัจจุบันนี้พบเสือโคร่งอยู่เพียงประมาณ 180 ตัว ซึ่งเกิดจากการลดลงของหลายปัจจัย ทั้งพื้นที่ป่าไม้ และสัตว์ป่าที่เป็นห่วงโซ่อาหารของเสือโคร่ง เช่น กระทิง วัวแดง กวางป่า และเก้ง อีกทั้งยังมีการลักลอบล่าเสือโคร่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุที่ทำให้ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยลดลง โดยจะมีการเดินหน้าแผนอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ 20 ปี เพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งของโลกในอีก 12 ปีข้างหน้า และแผนการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งระดับโลกใน 13 ประเทศ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่นๆ ที่เป็นห่วงโซ่อาหารของเสือ ไม่ให้ถูกล่าจากกลุ่มนายพรานป่าอีกด้วย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image