ผู้ว่าฯนครพนม ลุยเช็กการระบายน้ำก่ำลงแม่น้ำโขง พื้นที่เสี่ยงท่วม มั่นใจยังรับน้ำไหว

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายเกียรติศักดิ์ ผัดวัง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครพนม และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามสถานการณ์ บริเวณประตูระบายน้ำก่ำ บ้านนาคู่ ต.นาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงรับมวลน้ำไหลมาจากพื้นที่หนองหาร จ.สกลนคร ผ่านลำน้ำก่ำ เป็นระยะทางยาว กว่า 120 กิโลเมตร ไหลผ่าน อ.นาแก อ.ธาตุพนม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต โดยทุกปีจะมีพื้นที่เสี่ยง บริเวณจุดบ้านปากบัง ต.พิมาน อ.นาแก ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างลำน้ำก่ำกับลำน้ำบังก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง หากมีการระบายน้ำจากพื้นที่หนองหารจำนวนมาก บวกกับฝนตกหนักต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ บ้านเรือนในพื้นที่ ต.พิมาน อ.นาแก

จากการตรวจสอบพบว่า ปริมาณน้ำในลำน้ำก่ำล่าสุดมีปริมาณอยู่ที่ 40-50 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ห่างจากจุดล้นตลิ่งประมาณ 3-4 เมตร ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก ส่วนปริมาณน้ำโขงอยู่ที่ประมาร 8 เมตร ห่างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่งประมาณ 5 เมตร คือที่ 13 เมตร ทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำก่ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 ยังสามารถระบายน้ำก่ำลงสู่แม่น้ำโขงได้ต่อเนื่อง และยังไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้มีเปิดประตูระบายน้ำตลอดลำน้ำก่ำทั้ง 4 จุด เพื่อทำการพร่องน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้ปริมาณน้ำก่ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม เตรียมพร้อมรับมือหากฝนตกหนักต่อเนื่อง ป้องกันน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่ม นอกจากนี้ ยังได้เตรียม พร้อมในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเสริมการระบายน้ำลงสู่น้ำโขง หากมาพายุฝนตกหนักต่อเนื่อง

นายสยามกล่าวว่า ในช่วงนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดพายุฝนตกลงมาต่อเนื่อง จึงได้ประสานงานทุกหน่วยงาน เตรียมพร้อม ทั้งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์การช่วยเหลือ สำหรับพื้นที่เสี่ยงได้รับปัญหาอุทกภัย รวมถึงประสานทางหน่วยงานชลประทานประเมินสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง ให้มีการพร่องน้ำลงสู่น้ำโขง เพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้จำนวนมาก ป้องกันเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่ม นอกจากนี้ยังได้มีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าในการเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง หรือที่ปลอดภัยป้องกันความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังต้องประเมินเตรียมพร้อมช่วยเหลือสำหรับพื้นที่ไม่มีระบบชลประทานหากฝนทิ้งช่วง สามารถผันน้ำเข้าไปช่วยเหลือได้ สำคัญที่สุดช่วงนี้พื้นที่เสี่ยงติดกับแม่น้ำโขงบ แม่น้ำสายหลัก จะต้องเฝ้าระวังการเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่ง แต่สถานการณ์ล่าสุดเชื่อมั่นว่าแม่น้ำโขง รวมถึงลำน้ำสาขายังสามารถรับมวลน้ำได้อีกจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image