อบต.พันท้ายฯ ออกหนังสือสั่งรื้อถอน หวั่นอาคารถล่ม หลังตึกทรุดตัวเกินค่ามาตรฐาน

อบต.พันท้ายฯ ออกหนังสือสั่งรื้อถอน หวั่นอาคารถล่ม หลังตึกทรุดตัวเกินค่ามาตรฐาน

เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 21 สิงหาคม นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยนางสาววันนา แตงมณี รองนายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เผยผลการตรวจสอบอาคารหอพักเยี่ยมเจริญ ของนางเยี่ยม คำหริ่ม (กลัดเจริญ) ซึ่งเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีห้องพักจำนวน 30 ห้อง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เกิดทรุดตัวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ซึ่งจากการตรวจสอบการทรุดตัวในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้อาคารทรุดตัวลงไปแล้วเกินกว่ามาตรฐานที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์กำหนด ซึ่งค่ามาตรฐานคือในเวลา 24 ชั่วโมง ต้องทรุดตัวไม่เกิน 6 มิลลิเมตร แต่ตอนนี้ค่าที่ตรวจสอบได้มากถึง 8 มิลลิเมตร อีกทั้งยังพบรอยแตกร้าวที่ผนังอาคารชั้น 2 เพิ่มมากขึ้นด้วย ถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก ดังนั้น ทาง อบต.พันท้ายนรสิงห์ จึงได้ประกาศห้ามเข้าตัวอาคารเด็ดขาด และยุติการเคลื่อนย้ายของออกจากห้องพักไปเมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการต่อไปของอาคารหลังนี้ได้มอบหมายให้ อบต.พันท้ายนรสิงห์ ออกหนังสือคำสั่งรื้อถอนอาคารภายในวันที่ 21 สิงหาคม จากนั้นในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม ให้เจ้าพนักงานของ อบต.พันท้ายนรสิงห์ (นายก อบต.) เรียกเจ้าของอาคารมารับทราบหนังสือคำสั่งรื้อถอน เพื่อให้เจ้าของอาคารเร่งหาวิศวกรประเมินงาน กับผู้รับเหมาจัดทำออกแบบพร้อมนำเสนอแผนการรื้อให้ อบต.พันท้ายนรสิงห์ ทราบ เพื่อให้ความเห็นชอบในการรื้อถอนต่อไป ส่วนการรื้อถอนจะมีขึ้นเมื่อไหร่และใช้ระยะเวลารื้อถอนภายในกี่วันนั้น ต้องเป็นไปภายหลังจากที่มีการเสนอแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้กำชับต่อทาง อบต.พันท้ายนรสิงห์ว่า แบบที่รื้อถอนนั้น นอกจากจะต้องสร้างความปลอดภัยต่ออาคารหรือบ้านเรือนที่อยู่ข้างเคียงแล้ว ยังควรที่จะต้องสามารถให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปนำทรัพย์สินของผู้เช่าอาศัย ที่ยังคงติดค้างอยู่ภายในออกมาได้ด้วย

ส่วนสาเหตุของการทรุดตัวนั้น จากการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจ และข้อสรุปของสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคารฯ บ่งชี้ว่า สาเหตุไม่น่าจะมาจากเรื่องของการก่อสร้าง แต่เกิดจาก “การวิบัติของฐานราก” คือ จากข้อเท็จจริงพบว่า ฐานรากบริเวณด้านหลังของอาคาร ซึ่งอยู่ติดกับแอ่งน้ำ เกิดการทรุดตัวอย่างทันทีทันใด ทำให้เกิดการดึงรั้งของโครงสร้างอาคารบริเวณด้านหน้า ส่งผลให้ฐานรากอาคารส่วนที่เหลือทรุดตัวลงมาทั้งหมด ส่วนการวิบัติของฐานรากจะเกิดจากอะไรนั้น ก็ต้องทำการตรวจสอบต่อไปหลังจากที่รื้อถอนอาคารแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image