กำนันผู้ใหญ่บ้านเชียงราย คาใจงบแก้แล้ง-ท่วมกระจุกอำเภอเดียว

กำนันผู้ใหญ่บ้านเชียงราย คาใจงบแก้แล้ง-ท่วมกระจุกอำเภอเดียว

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากมีหนังสือคำสั่งอนุมัติงบประมาณบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 โดยตั้งเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รับความเห็นชอบ 2 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,093 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 18,927 รายการ วงเงิน 9,957 ล้านบาท และโครงการจัดหาครุภัณฑ์เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 805 ลำ วงเงิน 135 ล้านบาท โดย จ.เชียงรายได้รับงบประมาณ 876 โครงการ งบประมาณ 437 ล้านบาท และได้มีหนังสือคำสั่งจากนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการกจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ให้แต่ละอำเภอเร่งดำเนินการตามโครงการที่ผ่านการอนุมัติ

แต่ในหลายพื้นที่ต่างแสดงความไม่พอใจกับงบประมาณครั้งนี้ เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ อ.พาน ซึ่งได้รับการอนุมัติโครงการทั้งสิ้น 381 โครงการ งบประมาณ 196 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณเกือบจะครึ่งหนึ่งของงบที่จังหวัดได้รับการจัดสรรมา ในขณะที่ อ.เวียงชัย ไม่ได้รับพิจารณาโครงการแม้แต่โครงการเดียว และ อ.เทิง ได้รับงบประมาณ 3 โครงการ งบประมาณ 1.2 ล้านบาท อ.ป่าแดด ได้งบประมาณ 5 โครงการ 1.6 ล้านบาท และ อ.พญาเม็งราย ได้ 5 โครงการ งบประมาณ 2 ล้านบาท ทำให้บรรดาผู้นำในอำเภอดังกล่าว ได้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกันอย่างแพร่หลาย

นายประเวช ยามี กำนัน ต.ป่าแดด และ นายสรสิทธิ์ อุ่นนันท์ ผญบ.ม.4 ต.ป่าแดด อ.ป่าแดด กล่าวว่า ในส่วนของ ต.ป่าแดด ได้ส่งโครงการเพื่อใปพิจารณาจำนวน 40 กว่าโครงการ แต่ในระดับจังหวัดโดนตัดเหลือ 30 กว่าโครงการ แต่เมื่อผลการพิจารณาโครงการจากส่วนกลางออกมา ปรากฏว่า ต.ป่าแดด ไม่ได้สักโครงการ

Advertisement

“ชาว ต.ป่าแดด ก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เสียภาษีให้กับรัฐ และได้ผ่านการทำประชาคมสำรวจความต้องการของชาวบ้าน เพื่อจะได้งบประมาณดังกล่าวมาแก้ปัญหาเรื่องการเกษตรให้กับชาวบ้าน เพราะประชากร ต.ป่าแดด ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ละปีก็ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมมาตลอด โดยเฉพาะปัญหาแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง การปรับปรุงถนนเข้าพื้นที่ทางการเกษตร แต่เมื่อยื่นโครงการไปแล้วกลับไม่ผ่านสักโครงการ จึงอยากจะถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาโครงการว่ามีเกณฑ์การตัดสินอย่างไรในการอนุมัติโครงการ อยากให้ผู้พิจารณาโครงการช่วยจัดสรรให้เท่าเทียมกัน” นายประเวช กล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ ไชยราช กำนันตำบลศรีดอนไชย อ.เทิง กล่าวว่า ในการออกมาให้ความเห็นในครั้งนี้ไม่ได้ประท้วง เพียงแต่ข้องใจว่า อ.เทิง ซึ่งเป็นอำเภอขนาดใหญ่ ส่งโครงการไปให้พิจารณาทั้งหมด 80 กว่าโครงการ เป็นงบประมาณราว 40 ล้านบาท แต่ได้รับการอนุมัติเพียง 3 โครงการ ทั้งๆที่ จ.เชียงราย ได้งบกว่า 400 ล้านบาท ทางชมรมผู้ใหญ่บ้านอำเภอเทิงจึงมีความสงสัยว่าทำไม อ.พาน ถึงได้รับงบประมาณมากกว่า ทั้งๆ ทุกพื้นที่ของ อ.เทิง ก็เจอปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมมาตลอด

นายสมนึก วิงวอน กำนัน ต.หนองแรด และประธานสภาเกษตรกร อ.เทิง กล่าวว่า ปีการเพาะปลูก 2562-2563 อ.เทิง เจอปัญหาทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และเจอกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก มีความหวังว่าจะมีงบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมมาบรรเทาความเดือดร้อนบ้าง เพื่อนำมาใช้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำใช้ในการเกษตร ซ่อมแซมฝาย ฯลฯ ในฐานะตัวแทนเกษตรกรมีข้อสงสัยว่า เหตุใด อ.เทิง ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยมาก ขณะที่ อ.ดอยหลวง ที่ขนาดเล็ก ยังได้งบถึง 14-15 ล้านบาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image