เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 31 สิงหาคม ที่ห้องประชุมชั้น 1 มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข.เป็นประธานในการแถลงข่าว นักวิจัยพบสื่อมวลชน ประจำเดือน ส.ค.2563 ในหัวข้อแผ่นรังไหมรับแรงกระสุน จากผลงานวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ท่ามกลางความสนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.กล่าวว่า ผลงานสิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน เดิมผลงานวิจัยที่ผ่านมาสามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด วันนี้เป็นการต่อยอดผลงานวิจัยที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร หรือกระสุนปืนขนาด M 16 ที่เป็นอาวุธที่ใช้ทางทหาร รองรับการปฏิบัติงานในกลุ่มอาวุธสงคราม ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำ 2 รุ่น คือรุ่นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไปในปัจจุบัน 2-3 เท่า ซึ่งเสื้อเกราะดังกล่าวนอกจากน้ำหนักเบาแล้วแผ่นรังไหมยังสามารถหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบเนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่จำจากเคฟลาร์ ซึ่งพบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่าและยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้ แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้
“สำหรับการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.จะมีกระบวนผลิตที่แตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่างๆ ยึดเกาะกัน ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.หรือกระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น และแม้ว่าจะนำมาซ้อมกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้ ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงที่คิดค้นสำเร็จในวันนี้”
ผศ.ดร พนมกร กล่าวต่ออีกว่า จากผลการวิจัยของ มข.ทำให้ขณะนี้มีแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นน้ำหนัก 0.9,0.75 และ 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นน้ำหนัก 2 และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และผลงานวิจัยนี้นั้นได้ทำการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว