ราชบุรี หนุนเกษตรกร ‘ปลูกหญ้าแฝก’ ชุบชีวิตดินเสื่อมโทรม

ราชบุรี หนุนเกษตรกร
‘ปลูกหญ้าแฝก’
ชุบชีวิตดินเสื่อมโทรม

ที่ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นอีกแห่งของประเทศที่รวบรวมสายพันธุ์หญ้าแฝกไว้ประมาณ 28 สายพันธุ์ เพื่อนำมาวิจัย ศึกษา ทดลองถึงลักษณะเด่นของสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ปลูกในพื้นที่เหมาะสม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริการนำหญ้าแฝกมาปลูกช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ทรงมีพระราชดำริครั้งแรกเรื่องหญ้าแฝกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 ต่อมามีพระราชดำริเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ทรงเน้นถึงระยะปลูกแฝก ควรปลูกให้ชิด เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินให้แก่ไม้ผลและไม้ยืนต้น ไม่ให้หน้าดินเกิดการชะล้างพังทลาย

นายอนุรักษ์ บัวคลี่คลาย ผู้อำนวยการศูนย์วิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่โครงการเมื่อปี พ.ศ.2535 ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้ปลูกภายในโครงการ เป็นต้นแบบ และให้ขยายผลสู่เกษตรกรบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาพระองค์เสด็จอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2539 ทรงมีแนวพระราชดำริ การปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ถูกต้อง คือ ปลูกในระยะชิดประมาณ 5 เซนติเมตรระหว่างต้น โดยให้ปลูกหญ้าแฝกลักษณะครึ่งวงกลมบริเวณโคนต้นไม้ เพื่อจะบล็อกความชุ่มชื้นให้แก่ไม้ยืนต้น และปลูกลักษะตัววี เพื่อจะขวางระบบของร่องน้ำลึกและร่องน้ำตื้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำภายในพื้นที่

ต่อมามีชาวบ้านได้เข้ามาศึกษาภายในโครงการ พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริการปลูกหญ้าแฝกไปปรับปรุงใช้ในพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินลักษณะถูกการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เป็นดินเสื่อมโทรมเป็นหินโผล่ เกิดจากหน้าดินไม่มีหญ้า ไม่มีต้นไม้ มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ช่วงเกิดฝนตกก็จะชะหน้าดินออกไป หญ้าแฝกมีลักษณะเป็นกำแพงที่รักษาหน้าดินเอาไว้ไม่ให้ถูกชะล้างออกไป ถือเป็นประโยชน์ทางตรง ส่วนประโยชน์ทางอ้อม หญ้าแฝกจะมีรากค่อนข้างหนาแน่น ลำต้นแตกกอได้เยอะมาก ส่วนหนึ่งจะเก็บรักษาความชื้นไว้ในดิน ทำให้ต้นไม้อยู่บริเวณแนวหญ้าแฝกเกิดการเจริญเติบโตได้ดี เกิดความอุดมสมบูรณ์ กรมพัฒนาที่ดินได้มีการศึกษาพันธุ์หญ้าแฝก มีประมาณ 28 สายพันธุ์ สำหรับพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกนั้น ทางกรมได้มีการศึกษามาแล้วใน 28 สายพันธุ์ จะมี 10 สายพันธุ์ที่เหมาะสม แบ่งตามภูมิภาคต่างๆ

Advertisement

ประเทศไทยพบหญ้าแฝกอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ หญ้าแฝกลุ่มและหญ้าแฝกดอน ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันตก จะส่งเสริมสายพันธุ์สงขลา 3 เป็นพันธุ์แฝกลุ่ม จะเจริญเติบโตได้กับหลายสภาพพื้นที่ สามารถขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ ข้อดีคือเจริญเติบโตเร็ว กอใหญ่ ใบค่อนข้างใหญ่ ท้องใบจะออกสีขาวนวล ด้านหลังเป็นสีเขียวเข้ม เอามือลูบจะรู้สึกไม่ค่อยมีความคม สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จักสานได้ โดยรากยังนำไปผลิตน้ำหอมได้อีกด้วย ส่วนหญ้าแฝกดอนจะมีลักษณะกอเล็ก ใบจะมีความคมเรียวเล็กอยู่ในสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ป้องกันการคายน้ำ หากเป็นพื้นที่ลุ่มมีธาตุอาหารเยอะจะทำให้รากเจริญเติบโตได้ดี ถ้าดินตื้นรากก็จะเจริญเติบโตได้น้อย ความยาวของรากที่หยั่งลึกลงไปในดินจะแตกต่างกัน

สำหรับวิธีการปลูกหญ้าแฝก ปลูกแบบครึ่งวงกลม ใช้ในพื้นที่ลาดเทให้รับน้ำที่ไหลบ่ามา เป็นการกักเก็บน้ำและตะกอนดิน ส่วนการปลูกแบบวงกลมใช้ในพื้นที่ราบ มีประโยชน์เนื่องจากแนวกอหญ้าแฝกจะช่วยกักเก็บตะกอนดินที่ถูกน้ำพัดพามา ช่วยให้น้ำซึมลงดินลดความเร็วและความแรงของน้ำ ระบบรากยาวหยั่งลึกและแผ่กระจายเป็นลักษณะตาข่ายลงไปในดินในแนวดิ่ง หากปลูกเป็นแถวชิดกันเปรียบเสมือนกับเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้เป็นอย่างดี

สำหรับเกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจอยากจะนำหญ้าแฝกไปปรับปรุงที่ดิน สามารถติดต่อขอรับได้ที่ศูนย์วิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถไปขอรับได้ที่สถานีพัฒนาที่ดิน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image