วัฒนธรรมสัญจร เยียวยาศิลปินพื้นบ้าน สร้างขวัญกำลังใจ ‘หมอลำ’ สารคาม

วัฒนธรรมสัญจร
เยียวยาศิลปินพื้นบ้าน
สร้างขวัญกำลังใจ ‘หมอลำ’ สารคาม

จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบผู้ป่วยสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศปิดประเทศ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติหยุดชะงัก ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า นับจากวันนั้นผ่านมา รัฐได้มีมาตรการผ่อนปรนในระยะต่างๆ ทำให้กิจการ กิจกรรมต่างๆ กลับมาได้เกือบเป็นปกติในปัจจุบัน แต่ทุกคนต้องดำเนินวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ซึ่งต้องยอมรับว่าคนไทยมีการปรับตัวได้ดี

แต่ธุรกิจที่เชื่อว่ายังคงได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ ธุรกิจการแสดงของศิลปินพื้นบ้าน ที่ต้องหยุดงานแสดงตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมา เช่น วงดนตรีหมอลำ ทำให้ขาดรายได้ รายได้เป็นศูนย์ และถึงแม้ว่าตอนนี้จะสามารถเปิดการแสดงได้ตามปกติแล้ว แต่ยังคงต้องรักษามาตรการความเข้มข้นในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้แสดง ตลอดจนคนดูก็ต้องปรับตัวไปตามๆ กัน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ตามหน้าสื่อแขนงต่างๆ ที่ว่าการแสดงดนตรี คอนเสริต์ ไม่เว้นระยะห่าง จนต้องมีการปิดสถานบันเทิง หรือมีโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคกลุ่มเครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน เป็นอีกกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังไม่สามารถรับงานแสดงได้ดังเดิม ถึงแม้ว่ารัฐจะมีมาตรการผ่อนปรน และได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือแล้วก็ตาม ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของกลุ่มเครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดทำโครงการวัฒนธรรมสัญจร ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม มีนายเวียง วรเชษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ที่ถนนสายวัฒนธรรมไนท์บาซาร์

นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า การจัดงานวัฒนธรรมสัญจรส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นการบูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ช่วยเหลือและเยียวยาแก่ศิลปินใน จ.มหาสารคามและใกล้เคียง ได้มีพื้นที่สร้างสรรค์แสดงผลงานและเกิดรายได้นายไพบูลย์ เสียงทอง หัวหน้าคณะหมอลำไพบูลย์เสียงทอง กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดทำการแสดงไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ทุกอย่างกลายเป็นศูนย์ การจ้างงานถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ลูกน้องนักแสดง นักดนตรี คนในวงกว่า 200 ชีวิต ต้องแยกย้ายกันไป ซึ่งตอนนี้เริ่มมีงานแสดงติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยดนตรีหมอลำเป็นสื่อพื้นบ้านที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการร้อง การรำ สร้างความสนุกสนาน

ในปัจจุบันหมอลำมีการพัฒนาการแสดงบนเวทีใหญ่ แสง สี เสียงตระการตา มีการร้อง ลำเรื่องต่อกลอนเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบทสังคม ซึ่งมองว่าในการแสดงหมอลำในงานวัฒนธรรมสัญจรครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดวงทำการแสดงครั้งแรก หลังจากที่ต้องหยุดพักโดยสิ้นเชิงไปนานกว่า 5 เดือน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image