ปรากฏการณ์ ‘ไอ้ไข่’ ความเชื่อของชุมชน

เมื่อเอ่ยชื่อ ‘ไอ้ไข่’ ก่อนหน้านี้หลายคนคงสงสัยว่าคืออะไร และทำไมถึงทำให้เกิดการซอฟต์ เพาเวอร์ มีผู้คนแห่เดินทางไปจังหวัดนครศรีธรรมราช นับแสนคน

สำหรับ ไอ้ไข่ นั้น เล่าต่อๆ กันมาว่าเป็นเด็กวัดคนหนึ่งในวัดเจดีย์ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เสียชีวิตไปแล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นลูกเต้าของใคร แต่มีคำยืนยันจากปาก พระครูพุทธเจดิยาภิมณฑ์ (อภิชิต พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) เล่าไว้ว่า เรื่อง ‘ไอ้ไข่’ วัดเจดีย์ มีที่มาว่า ในวัดมีพระพุทธรูปโบราณเป็นที่สักการะของชุมชนประจำหมู่บ้าน และมีคนเห็นว่ามีเด็กวิ่งเล่นอยู่รอบๆ ฐานพระ จะเป็นผีหรือวิญญาณ ไม่แน่ใจ แต่เชื่อว่าต้องเป็นอะไรสักอย่างที่มีพลังต่อวิถีในความศรัทธาของผู้คน คือ เป็นเด็กอายุสัก 9-10 ขวบ ไว้จุก คอยติดตามขรัวทอง อดีตเจ้าอาวาสวัด ไม่ทราบว่าตายเมื่อไร แต่ชาวบ้านนับถือ เมื่อของหายก็ไปขอร้องบนบาน

‘ไอ้ไข่ จึงไม่ใช่ศาสนา เป็นวัฒนธรรม เป็นความเชื่อของชุมชน วัดกำลังสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อให้เป็นกราบไหว้ของชาวพุทธ และพุทธศาสนา ตัวแทนของพระพุทธเจ้าต้องเหนือ และส่วนไอ้ไข่เป็นความศรัทธาของคนศรัทธา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องใช้วิจารณญาณที่พึงมีในแต่ละคน ไอ้ไข่ ไม่ใช่เพิ่งดังในปีนี้ แต่เป็นที่รู้จักและศรัทธาของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนทำมาหากิน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ในการต่อสู้กับสภาวการณ์ดำเนินชีวิต จึงมีความเชื่อว่าหากขอแล้วก็จะได้อย่างที่ต้องการ’

และเมื่อบนบานกล่าว ‘ขอได้ไหว้รับ’ กับไอ้ไข่ได้สมประสงค์ตามที่ขอก็จะกลับมาแก้บนด้วยสิ่งของ ที่เราเห็นอยู่ในวัดอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประทัด หรือตุ๊กตาไก่ ความเชื่อและความนิยมที่มีการนำตุ๊กตาไก่มาถวายแก้บนไอ้ไข่จนตุ๊กตาไก่ขนาดต่างๆ หลายแสนตัว วางเรียงรายเต็มพื้นที่วัด

Advertisement

ขณะที่บรรดาคอหวยบางรายถึงขนาดนั่งนับเสียงไก่แจ้ที่ขัน เพื่อนำไปเสี่ยงโชคซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกัน

ว่ากันว่า หากต้องการประสบผลสำเร็จในการบนบาน เป็นที่ถูกอกถูกใจ ไอ้ไข่ ‘ขอได้ ไหว้รับ’ โดยเฉพาะโชคลาภ และการค้าขาย 5 ข้อ หลายคนมักเข้าใจผิด ข้อ 1.ต้องเรียก ‘ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์’ ไม่ควรเรียกอย่างอื่น เช่น ตาไข่ พี่ไข่ น้องไข่ เนื่องจากคำว่า ‘ไอ้ไข่’ เพิ่งมาเรียกเอาตอนที่มีการแกะสลักรูปไม้ในปี พ.ศ.2523-2524 ผู้แกะสลักคือผู้ใหญ่เที่ยง ได้ฝันเห็นเด็กแก้ผ้า เปลือยกายกับพระจีวรสีคล้ำเอ่ยปากว่าแกะรูปให้ จะได้มีที่อาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง และเด็กในฝันก็จะบอกว่า ‘เราไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์’ ตั้งแต่นั้นมาจึงได้รู้ว่าเด็กวัดนี้ชื่อ ไอ้ไข่

Advertisement

2.ความปรารถนาของไอ้ไข่ ต้องการให้คนเข้ามาวัดเพื่อกราบไหว้พระประธาน วัดเจดีย์ อย่าเฝ้าแต่บูชา ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ 3.การขอพร ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ทุกคนขอสามารถขอได้ทั้งหมดที่ใจต้องการ แต่มีสิ่งเดียวที่ไม่สามารถขอพรได้คือ ขอให้ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ช่วยเด็กจมน้ำ เพราะไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ได้จมน้ำเสียชีวิต ไม่สามารถช่วยเหลือสิ่งนี้ได้

4.สิ่งของที่แก้บนไม่จำเป็นน้ำแดง ไข่ต้ม หรือชุดทหาร สามารถถวายอะไรก็ได้ที่ใจเราอยากถวาย

เนื่องจากการจะไปแก้บน หรือการไหว้ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ หลายคนคงเข้าใจกันว่าไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์นั้นชอบ ขนมเปี๊ยะ น้ำแดง ชุดทหาร ตำรวจ ไก่ปูนปั้น หนังสติ๊ก ประทัด แต่ของที่ต้องการแก้บนนั้นไม่จำเป็นเป็นของเหล่านี้ แต่สามารถนำของเล่นที่เด็กปัจจุบันเล่นได้ เช่น โมเดล ต่างๆ ขนมต่างๆ ที่เด็กปัจจุบันชอบๆ กัน 5.เวลาไปกราบไหว้ขอพร ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ อยากจะให้ประสบความสำเร็จดังที่ขอนั้นต้องมีเคล็ดลับช่วงเวลาที่ไปกราบไหว้ขอพร ให้ทำหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พูดหวาน มองดี ห้ามมองตาค้อน มองดุ มองจิกกัด เพราะไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ไม่ชอบ ให้มองดีๆ พร้อมยิ้มอ่อนๆ

ทั้ง 5 ข้อจึงเป็นสิ่งที่คนศรัทธาทุกคนพึงรับและปฏิบัติต่อๆ กันมา และประสบผลสำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่ศรัทธา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการบริหารจัดการภายในวัด ล้วนแต่เป็นคนในจัดการดูแลกันอย่างเป็นธรรม จนกระทั่งมีเรื่องราวทั้งดีและไม่ดีเกิดขึ้นกับวัด

พระครูพุทธเจดิยาภิมณฑ์ (อภิชิต พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ชี้แจงว่า ไม่เคยมีกฎระเบียบอะไร เราอยู่ของเรา วัดกับชุมชน การบริหารจัดการวัดคืออะไร ชุมชนคืออะไร สถานการณ์ของวัดต้องอยู่ทั้งชุมชนและวัด ต้องช่วยกันดูแล จุดแข็งของวัดในการบริหารจัดการคืออะไร คือชุมชน ก่อนหน้านี้เราอยู่กันเองดูแลกันเอง เคยทำข้าวหลามที่ยาวที่สุด ไม้ไผ่ 4 รถสิบล้อ ข้าวเหนียว 100 กระสอบ ทำกันได้อย่างไร เรารวมคน หลอมคนให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีอะไรก็ดูแลกัน ปรึกษากัน เจ็บป่วยเจ็บไข้ไม่สบายหรือยากดีมีจนอย่างไร เราก็ต้องดูแลกัน ปัญหาต่างๆ ภายในวัดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวมากกว่า บางทีคุณร้อนมาแล้วมาเจอกับคนร้อนก็เกิดปัญหา เราก็ต้องปรับกันต่างคนต่างถอยให้เย็นกัน แล้วมาคุยกัน ทุกอย่างมีการปรับกัน เมื่อมีเหตุก็นำมาแก้ไขกันทุกครั้ง

นายจำรัส เพชรทับ ชาวบ้านชุมชนวัดเจดีย์ ผู้ร่วมอุปัฏฐากวัด เปิดเผยว่า ผลจากการเข้ามาบนบานกับไอ้ไข่วัดเจดีย์ จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในวัดแต่ละเดือนมากกว่า 1.4 แสนคน โดยเฉพาะวันหยุดจะมีประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนต่อวัน และโดยอานิสงส์ของการท่องเที่ยววัดไอ้ไข่ ได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในนครศรีธรรมราชเติบโตอย่างมาก

‘ทุกบาททุกสตางค์ทางวัดทำบัญชี จะทำอะไรชุมชนต้องรับทราบ ที่ผ่านมาวัดกับชุมชนร่วมคิดร่วมทำจนสามารถผ่านทุกอย่างมาได้ล้านเกิดจากความศรัทธาของประชาชนทั้งสิ้น อาจจะมีบ้างเกิดปัญหาแต่ชุมชนพยายามแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้ คนนอกต่างหากพยายามเข้ามาแก้ปัญหา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวัดและชุมชนจัดการ ไอ้ไข่ก็จะอยู่กับชุมชนไปอีกยาวนาน’

ปรากฏการณ์ ‘ไอ้ไข่ วัดเจดีย์’ มีกระแสพูดถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการนำ ไอ้ไข่ ไปวางไว้ตามวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเคารพบูชา

อาจเป็นเพราะวันนี้คนขาดที่พึ่งทางใจหรือไม่ จึงต้องการขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนเกิดการกระแสบูชาไอ้ไข่จนหลายคนกังวลว่าจะกลายเป็นงมงาย

แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์ ‘ไอ้ไข่’ ก็ทำให้เมืองนครศรีธรรมราช เกิดความคึกคัก มีประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image