สุดทน! ผัวเมียประท้วง รง.ปล่อยน้ำเสียตายทำปาล์มตายเกือบหมด

สุดทน! ผัวเมียประท้วงหน้าศาลากลาง ตกงานหวังรายได้จากปาล์ม เจอรง.ปล่อยน้ำเสียตายเกือบหมด

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่หน้าศาลากลาง จ.ตรัง นายสมชาย คงขำ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 80/1 ม.2 ต.นาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง พร้อมด้วย นางหทัยสิทธิ์ แตงสวน อายุ 53 ปี ภรรยา ยืนถือป้ายที่มีข้อความเกี่ยวกับข้อกฎหมาย รวมทั้งภาพถ่ายหลักฐาน และข้อความเรียกร้องกรณีได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.นาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง ปล่อยน้ำเสียลงเข้าสู่สวนปาล์มน้ำมันเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน จำนวน 132 ต้น เป็นเหตุให้ปาล์มยืนต้นตายไปแล้วกว่า 86 ต้น โดยมีนายภานุวัฒน์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.ตรัง รับเรื่องพร้อมฟังปัญหา และประสานไปยัง นางพรทิพา อัครสุต ตัวแทนอุตสาหกรรม จ.ตรัง เข้าร่วมพูดคุยเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง (ชม.)

นายสมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานไม้ยางพารา โดยที่โรงงานไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยที่เป็นโรงงานประเภท 3 โดยบ่อบำบัดน้ำเสียต้องสร้างด้วยปูนซีเมนต์หน้า 10 เซนติเมตร (ซม.) แล้วบำบัดไปตามกระบวนการ บ่อที่ 2 ต้องสร้างด้วยปูนซีเมนต์หน้าไม่ต่ำกว่า 8 ซม.แต่โรงงานดังกล่าวไม่ได้มีกระบวนการบำบัด อีกทั้งยังปล่อยเรี่ยราดลงมาในสวนปาล์มน้ำมันของตนเอง

“ต้นปาล์มปลูกไว้ 132 ต้น ล้มตายไปแล้วกว่า 86 ต้น แล้วกำลังจะตายอีกหลายต้น ผมเหลืออะไร ผมตกงานมาแล้ว 7 เดือน ก่อนหน้านี้เป็นมัคคุเทศก์อยู่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต หลังตกงานก็หวังว่าจะกลับมาหากินกับปาล์มที่ปลูกไว้” นายสมชาย กล่าวและว่า ปาล์มเริ่มตายตั้งแต่มาแล้วประมาณ 6 เดือน แต่ตนกลับมาไม่ได้ เพราะติดโควิด-19 ไม่สามารถออกเดินทางจาก จ.ภูเก็ต ได้ หลังจากนั้นตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วกว่า 3 เดือน ทั้งอุตสาหกรรม จ.ตรัง ศูนย์ดำรงธรรม อ.เมืองตรัง และล่าสุดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม อุตสาหกรรม จ.ตรัง และเจ้าหน้าที่เกษตร จ.ตรัง ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว เห็นกับตาว่าสวนของตนเสียหายจริง อีกทั้งเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจค่าน้ำเสีย ซึ่งพบว่าเกินปริมาณที่กำหนดจริง แต่ก็กลับไม่มีความคืบหน้า โรงงานยังคงปล่อยน้ำเสียลงมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

“วันนี้ก็อยากเข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรม เป้าหมายของตนคือความเป็นธรรมเท่านั้น ไม่ได้อยากสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ไม่ต้องการจะไปปิดโรงงานใคร แต่ทรัพย์สินของตนที่เสียหายไป ผมควรจะต้องได้รับกลับมา” นายสมชาย กล่าว

ขณะที่ นายภานุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางเรื่องนี้คือ มองดูแล้วค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควร จากการพูดคุยกันเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งได้ข้อยุติที่น่าจะเชื่อถือได้ ก็มีแนวคิดที่จะเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อเข้าไปตรวจสอบโรงงานอย่างจริงจัง โดยที่ไม่ใช่โรงงานดังกล่าวเพียงโรงงานเดียว แต่จะตรวจสอบทั้ง 3 โรงงานที่อยู่ติดกัน

Advertisement

“โดยตั้งรองผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมเป็นประธานคณะทำงาน อุตสาหกรรมจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่น และศูนย์ดำรงธรรม เพื่อที่จะให้ทางทีมอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อที่จะเข้าไปในโรงงานเพื่อตรวจสอบแต่ละเรื่องแต่ละขบวนการทำถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร จะไม่มองเรื่องน้ำเสียอย่างเดียวแล้ว จะเอาประเด็นอื่นด้วย ขณะนี้โรงงานกล่าวหาว่าผู้ร้องกับอุตสาหกรรมร่วมกันไปแจ้งความเท็จ เพื่อหวังที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงงานโดยการพูดครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการตอบโต้ แต่เมื่อเรื่องมันมาถึงขนาดนี้ ผู้เสียหายเดือดร้อนจริงก็จะต้องเดินไปให้ถึงที่สุด” นายภานุวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image