ฟาร์มปลาดุกหนองคาย ชวนเกษตรกรร่วมเป็นเครือข่าย หนุนเลี้ยงในบ่อผ้าใบ เผยส่งขายวันละ 5 ตันยังไม่พอ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นายกฤช มิคาระเศรษฐ์ เหมะรักษ์ หรือเสี่ยออย อายุ 40 ปี เจ้าของ “ฟาร์มปลาดุกหนองคาย” เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกในบ่อผ้าใบ ที่ ต.บ้านเดื่อ อ.เมือง จ.หนองคาย ขนาดบ่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร สูง 1.20 เมตร บรรจุน้ำได้ 19.46 ลบ.ม. โดยเริ่มจากการเลี้ยงทั้งหมด จำนวน 52 บ่อ ในพื้นที่ 18 ไร่ แต่ละบ่อเลี้ยงปลาดุกได้ 10,000-20,000 ตัว ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นถึงขาย 4 เดือน ให้ผลผลิตบ่อละ 2-3 ตัน ส่งขายใน 5 จังหวัด ภาคตะวันอออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย หนองคาย อุดรฯ หนองบัวลำภู สกลนคร และบึงกาฬ

ทั้งนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ได้มีการขยายจำนวนบ่อที่เลี้ยงเป็น 80 บ่อ สามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 5 ตัน หรือเดือนละประมาณ 150 ตัน จากเดิมที่ผลิตได้วันละ 3 ตัน แต่ยังไม่พอเพียงกับความต้องการของตลาดที่ประชาชนมีการบริโภคปลาดุกเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เฉพาะในจังหวัดหนองคายเอง มีความต้องการบริโภคปลาดุกวันละประมาณ 8 ตัน ส่วนอีก 4 จังหวัดที่เหลือ มีความต้องการบริโภคปลาดุกประมาณวันละ 32 ตัน เมื่อรวมทั้ง 5 จังหวัดแล้วพบว่ามีความต้องการบริโภคปลาดุกวันละประมาณ 40 ตัน ถือว่าตลาดของปลาดุกยังมีรองรับอีกมาก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐ คือกรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองคาย ได้จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าไปเป็นเครือข่าย “องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น” และเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีภายในฟาร์มฯ เพื่อนำไปปรับใช้กับการเลี้ยงปลาของตนเอง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ในเวทีของการแข่งขันและมีมาตรฐานที่สามารถจะขายปลาที่เลี้ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

นายกฤชเปิดเผยว่า ฟาร์มปลาดุกหนองคายมีแนวคิดว่าจะเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรยุคเก่า ที่สามารถเปลี่ยนแนวความคิด หรือวิธีการมาเป็นนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว แต่มีการนำมาปรับให้เข้ากับประเทศไทย และให้เกษตรกรรุ่นใหม่หันมาผลิตโปรตีนในราคาต่ำแบบนี้ เพราะการผลิต หรือเลี้ยงปลาดุกแบบนี้จะตอบโจทย์ในเรื่องของการจัดการง่าย รวมทั้งตอบโจทย์ในเรื่องของผลผลิต ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ เพราะจำนวนผลผลิตมากขึ้น อัตรารอดเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดได้ ไม่มีปัญหาในเรื่องของราคา ซึ่งการผลิตปลาหรือเลี้ยงปลาวิธีการนี้เป็นการผลิตปลาที่สะอาด คือปราศจากสารเคมีและยาปฏิชีวนะ มีการผลิตขายภายในประเทศก่อนที่เหลือก็สามารถส่งออกขายต่างประเทศได้

Advertisement

นายกฤชกล่าวอีกว่า ขณะนี้ความนิยมในการบริโภคปลาที่ปลอดภัยมีเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกคนมีความกลัวในเรื่องของโรคภัย ส่งผลให้ยอดคนที่บริโภคปลาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ประกอบกับขณะนี้ทางภาครัฐทั้งกรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย และจังหวัดหนองคาย ได้เข้ามาสนับสนุน จัดทำโครงการที่จะให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรมาร่วมผลิต หรือส่งผลผลิตให้กับทางฟาร์มปลาดุกหนองคาย ซึ่งฟาร์มปลาดุกหนองคายก็จะมีการแปรรูปเพื่อส่งเข้าไปยังตลาดโมเดิร์นเทรดต่อไป

“ในส่วนของฟาร์มปลาดุกหนองคายเอง ได้มีการขยายจำนวนบ่อในการเลี้ยงปลาดุกเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ 52 บ่อ ขณะนี้เพิ่มเป็นเกือบ 80 บ่อ สามารถผลิตได้วันละ 5 ตัน เดือนละประมาณ 150 ตัน ในพื้นที่ 18 ไร่ ในส่วนของตลาดนั้นยังเป็นตลาดในพื้นที่เดิมคือ 5 จังหวัด อีสานตอนบน ประกอบด้วย หนองคาย อุดรฯ หนองบัวลำภู สกลนคร และบึงกาฬ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวปกติก็มีการบริโภคปลาอยู่แล้ว ก็ได้หันมาบริโภคปลาดุกจากฟาร์มของเรา เนื่องจากปลาที่เลี้ยงจากฟาร์มของเราไม่มีสารเร่งเหลือง และที่สำคัญไม่มีกลิ่นคาว คุณภาพของเนื้อปลาก็มีคุณภาพที่ดี” นายกฤชกล่าว

สำหรับการยกระดับเนื้อปลาดุกที่เลี้ยงให้เป็น “ข้าวหน้าปลาดุก” เช่นเดียวกันที่ตอนนี้มีข้าวหน้าปลาไหล นายกฤชกล่าวว่า ขณะนี้เนื้อปลาดุกที่เลี้ยงในฟาร์มตอบโจทย์อาหารญี่ปุ่นคือ ด้วยลักษณะและรสชาติของเนื้อปลาสามารถนำไปปรับเปลี่ยนเป็นอาหารญี่ปุ่นแทนข้าวหน้าปลาไหลได้ คือต่อไปจะเป็นข้าวหน้าปลาดุก เนื่องจากมีรสชาติและคุณภาพเดียวกัน ซึ่งทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์และสถาบันอาหารที่มีทีมวิจัย ได้นำเนื้อปลาจากฟาร์มได้ทำการทดสอบ และทดลองทำอาหารในหลากหลายเมนูแล้ว น่าจะมีข่าวดีในไม่ช้านี้
ในส่วนที่จะให้เกษตรกรเป็นเครือข่ายนั้นจะอยู่ในขั้นตอนใดนั้น เจ้าของ “ฟาร์มปลาดุกหนองคาย” เปิดเผยว่าเกษตรกรสามารถเข้ามาเป็นเครือข่ายได้ตั้งแต่ช่วงอนุบาล ก่อนที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อผ้าใบ ซึ่งช่วงอนุบาลจะมีระยะเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง ขณะนี้ทางฟาร์มมีความต้องการปลาที่ผ่านการอนุบาลแล้วเดือนละ 1.5-2 ล้านตัว ซึ่งในเรื่องของการตลาดของปลาดุกนั้น เป็นปลาที่ทำตลาดได้ง่ายมาก เพราะปกติแล้วคนไทยทุกคนรู้จักปลาดุกและรับประทานปลาดุก บางคนไม่ชอบรับประทานปลาดุกเนื่องมาจากฝังใจในการเลี้ยงและให้อาหารแบบเก่า

Advertisement


“หลังจากที่มีการเลี้ยงแบบใหม่นี้คนที่ไม่ชอบรับประทานปลาดุกได้มาลองรับประทานดุก ก็กลับมารับประทานปลาดุก เนื่องจากไม่มีกลิ่นคาวเหมือนแบบเดิม ซึ่งในเรื่องของการตลาดในการขายปลาดุกต่อไปก็นับวันจะง่ายยิ่งขึ้นเพราะทุกคนรู้จักปลาดุกอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนวิธีเลี้ยงมาเลี้ยงแบบใหม่นี้ หากเลี้ยงจนมีปริมาณมากจนเหลือจากการบริโภคในประเทศ ก็สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เพราะการเลี้ยงแบบใหม่นี้ตอบโจทย์สำหรับการส่งออกไปยังต่างประเทศได้อยู่แล้ว”
นายกฤชกล่าว

ทางด้านนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวยังจากเยี่ยมฟาร์มปลาดุกหนองคาย ว่า การเลี้ยงปลาดุกที่ฟาร์มแห่งนี้เป็นการเลี้ยงปลาดุกตามรูปแบบใหม่ที่ได้มีการศึกษาวิจัยไว้แล้ว อีกทั้งได้มีการเลี้ยงวิธีการนี้ทั้งในและต่างประเทศ ก่อนที่จะมีการนำมาประยุกต์และปรับใช้กับพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากเรายังมีการประกอบกิจการหรือดำเนินการในรูปแบบเก่าที่บางครั้งมีปัญหาอุปสรรค มีภัยธรรมชาติก็จะประสบกับการขาดทุน หรือผลประกอบการไม่คุ้ม ได้กำไรน้อย หากยังใช้วิถีทางแบบเดิมอาจจะอยู่ยาก แต่ที่ฟาร์มปลาดุกหนองคาย มีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงที่แบบเดิมเลี้ยงในบ่อคอนกรีตหรือในบ่อดิน มาเป็นบ่อผ้าใบที่สามารถเลี้ยงได้จำนวนมากถึง 2 หมื่นตัว ภายใน 1 บ่อที่มีขนาดกว้าง 5 เมตร สูง 1.20 เมตร ดังนั้น จึงมีความคุ้มค่าในการเลี้ยงและในการลงทุน แต่ก็ต้องมีเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการในทุกเรื่องได้ เกษตรกรจึงน่าจะมีการเข้ามาเรียนรู้หรือเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับฟาร์มปลาดุกหนองคายแห่งนี้ อาจจะเป็นช่วงหนึ่งของการเลี้ยงปลา เช่น เลี้ยงในช่วงอนุบาล พอได้ขนาดก็ส่งต่อเพื่อเลี้ยงที่ฟาร์มแห่งนี้ หรือเข้ามาเรียนรู้เข้าเทคโนโลยีไปปรับใช้กับเลี้ยงปลาของตนเอง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ในเวทีของการแข่งขัน และมีมาตรฐานที่สามารถจะขายปลาที่เลี้ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image