ระบาดหนัก! โรคไวรัสเพิร์สในสุกร ป่วย-ตาย นับพันตัว

ระบาดหนัก! โรคไวรัสเพิร์สในสุกร ป่วย-ตาย นับพันตัว

วันที่ 25 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ตามที่ทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง ได้ออกประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เนื่องจากพบว่า พื้นที่ ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีสุกรสงสัยเกิดโรคระบาดชนิดไวรัส PRRS (เพิร์ส) ซึ่งโรคนี้เป็นโรคระบาดร้ายแรงอาจระบาดติดต่อไปสู่สุกรได้

ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 จึงออกประกาศให้ทราบทั่วกัน ว่า เขตท้องที่บริเวณดังต่อไปนี้ คือ จาก ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ทิศเหนือ จาก ต.นาครัว, ทิศใต้จาก ต.บ้านกิ่ว , ทิศตะวันออก จาก ต.นาครัว และทิศตะวันตก จาก ต.น้ำโจ้ เป็นเขตโรคระบาดชนิดเพิร์ส โดยมีการคุมเข้มการเคลื่อนย้าย และมีการเฝ้าระวังในพื้นที่เป็นระยะเวลา 30 วัน หากมีการฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่บ้านหนอง ม.4 ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง และได้พบกับชาวบ้านในพื้นที่ คือ นายประจำ จารนะ อายุ 53 ปี ได้นำคลิปภาพวีดีโอ เพื่อชี้จุดที่มีการฝังซากหมูของผู้เลี้ยงรายหนึ่งในพื้นที่ ว่า มีการใช้รถแบ็คโฮขุดหลุดขนาดใหญ่ แล้วฝั่งซากสุกรที่คาดว่าป่วยติดเชื้อดังกล่าว ประมาณ 30 ตัว ซึ่งในภาพนอกจากพบรถแบ็คโฮแล้ว ยังพบร่องรอยของการโรยปูนขาว

โดยชาวบ้านได้บอกกับผู้สื่อข่าว ว่า ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่หมู่บ้านต๋อ ม.3 ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง เกิดมีสุกรที่เลี้ยงเกิดป่วย หลังมีอาการซึม ตัวแดง และล้มตายลงเฉียบพลันหลาย 100 ตัว จากนั้นก็เกิดการระบาดเข้ามายังที่หมู่บ้านหนอง ม.4 และ ม.9 ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เข้ามาตรวจสอบ และเริ่มทำลายซากสุกร โดยให้เจ้าของนำไปฝังอย่างถูกวิธี ซึ่งที่เฉพาะบ้านหนอง ทั้ง 2 หมู่บ้าน มีการทำลายซากสุกรไปแล้วกว่า 500 ตัว ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่ผวา ไม่กล้ากินหมูแล้ว จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด และอยากให้เข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้าน ว่า จะมีผลอย่างไรบ้าง หรือวิธีการป้องกัน หากชาวบ้านบริโภคหมูที่ติดไวรัสดังกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยัง นายศร ธีปฏิมากร ปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ถึงสถานการณ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางปศุสัตว์สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้มีการฆ่าหมูในพื้นที่ไปทั้งหมดเกือบ 1,000 ตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปจำนวนที่แท้จริงอยู่ และขอความร่วมมือกับประชาชนที่เลี้ยงสุกร ว่า หากพื้นที่ใดพบสุกรที่เลี้ยงอยู่ในคอก มีอาการผิดปกติ เช่น ป่วย โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการผิดปกติ รวมถึงเกิดตายลง ให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอทราบทันที เพื่อจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และควบคุมโรค

“โดยเฉพาะจะเก็บตัวอย่างเลือดสุกรไปตรวจสอบทางห้องปฎิบัติการ หากเป็นโรคปกติทั่วไป ก็ไม่เป็นไร แต่หากเข้าข่ายเป็นโรคระบาดร้ายแรง ก็จะต้องปฎิบัติตามระเบียบที่กำหนด ส่วนขณะนี้พื้นที่ที่เกิดเหตุได้มีคำสั่งให้ระงับการเคลื่อนย้ายสุกรในรัศมี 5 กิโลเมตร รวมถึงคุมเข้ม ทั้งการเข้าออกระหว่างจังหวัดด้วย ซึ่งพื้นที่ที่มีการตรวจพบโรคส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านและฟาร์มรายย่อย ที่เลี้ยงสุกรประมาณ 5 – 60 ตัว หรือไม่เกิน 200 ตัว ส่วนฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ ยังไม่พบการระบาด” นายศร กล่าว

สำหรับในพื้นที่ ที่พบสุกรป่วย และเกิดล้มตายลง และคาดว่า จะป่วยติดเชื้อโรคระบาดร้ายแรงในสุกร หลังมีการตรวจสอบเบื้องต้น ก็จะให้นำไปฝังกลบ โดยใช้รถแบ็คโฮขุดหลุมลึกประมาณ 3 เมตร โรยปูนขาว และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยจะฝังในพื้นของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรแต่ละราย ในกรณีที่มีสุกรที่ล้มตายลงไม่มา หากไม่มีพื้นที่ฝั่ง ก็จะมาตกลงกัน และนำไปฝังในพื้นที่อื่น ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงนั้น ทางภาครัฐจะช่วยเหลือเยียวยาให้ประมาณ 75% ของราคาสุกร โดยที่มีการเน้นย้ำ ว่า ห้ามเคลื่อนย้ายสุกรที่จายลงออกไปที่อื่น หรือนำไปชำแหละ เพื่อประกอบอาหาร หรือขายต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image