บูรณะอุโบสถ‘วัดสามแก้ว’ เสริมแต่งจิตรกรรมฝาผนัง อนุรักษ์โบราณสถานสำคัญชุมพร

บูรณะอุโบสถ‘วัดสามแก้ว’
เสริมแต่งจิตรกรรมฝาผนัง
อนุรักษ์โบราณสถานสำคัญชุมพร

“วัดสามแก้ว” ตั้งอยู่ใน ต.นาชะอัง อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นวัดที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์คือ อุโบสถของวัดไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน ตลอดจนส่วนประกอบต่างๆ เหมือนอุโบสถของวัดทั่วไป มีประวัติวัดสามแก้วที่บันทึกโดย จุมพล เพิ่มแสงสุวรรณ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2554 ว่า เมื่อปี พ.ศ.2468 พระธรรมโกศาจารย์ (เซ่ง อุตตโม) ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลภูเก็ตและนครศรีธรรมราช ร่วมกับ หลวงศรีสุพรรณดิฐ (เผียน ชุมวรฐายี) นายอำเภอท่าแซะขณะนั้น และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ช่วยกันถางป่าแล้วสร้างที่พัก ศาลาธรรม เพื่อใช้เป็นที่พักระหว่างเดินทางมาตรวจคณะสงฆ์ในภาคใต้ ต่อมาวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2467 วัดสามแก้วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และประกอบพิธีฝังรากอุโบสถในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2467 โดยมี พระภัทรธรรมธาดา (จรูญ สุทโธ เปรียญ 5 ประโยค) สังกัดธรรมยุตินิกาย เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ.2472 เป็นต้นมา (เจ้าอาวาสวัดสามแก้วในปัจจุบันคือ พระอโนมคุณมุนี (พินิจ พุทฺธสโร)

การสร้างอุโบสถวัดสามแก้วเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายศาสนจักร รวมทั้งชาวในพื้นที่ ซึ่งมีรายชื่อผู้บริจาคทรัพย์ในการสร้างปรากฏอยู่ใต้ภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถ หลังจากสร้างอุโบสถเสร็จในปี พ.ศ.2473 สมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยมีการปฏิรูปประเทศ มีการจ้างสถาปนิกชาวตะวันตกเข้ามาออกแบบอาคาร ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 แนวความคิดแบบสมัยใหม่ถูกนำมาใช้ก่อสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ มากขึ้น มีแนวคิดคือเรียบง่าย อวดรูปทรง ประโยชน์ใช้งาน และเหตุผล แสดงความงามโครงสร้างและวัสดุ จนในสมัยรัชกาลที่ 7 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้มีอาคารใหม่ๆ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เรียบง่ายมากขึ้นการก่อสร้างใช้ปูนซีเมนต์หล่อเสาและคานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรับน้ำหนัก การก่อผนังอาคารเป็นเทคโนโลยีแบบตะวันตกที่มีลักษณะหลังคาแบนราบ ไม่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทย มีเพียงการสร้างหลังคายื่นออกมาเป็นกันสาดเพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น รองรับด้วยคันทวยที่หลังคากันสาดทั้ง 2 ชั้น ที่ผนังด้านบนของอาคารทั้ง 4 ด้านมีช่องลมที่ฉลุลวดลายเพื่อใช้ระบายความร้อนจากหลังคา ตัวอาคารประดับลวดลายไทยที่กรอบประตูและหน้าต่างโดยใช้การปั้นปูน ทำพิมพ์ แล้วหล่อนำมาแปะติดที่ตัวอาคาร ส่วนอุโบสถเป็นอาคารยกพื้นสูงจากพื้นดิน รองรับด้วยเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นเป็นซีเมนต์ปูด้วยกระเบื้องหินขัด ฐานอาคารภายนอกมีการฉลุลวดลายให้เป็นช่องระบายอากาศและความชื้น ส่วนด้านหน้าอาคารเน้นมุขทางเข้าด้วยหลังคาแบนราบ และบริเวณรอบนอกตัวอาคารมีการสร้างกำแพงแก้วเตี้ยๆ ล้อมรอบ มีหลักเสมาเป็นหินล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ

ในขณะนั้น พระธรรมโกศาจารย์ได้ชักชวนพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) องคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 6 มาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ ใช้เทคนิคสีน้ำมันแบบตะวันตก และรูปแบบการเขียนภาพแนวเหมือนจริง การจัดลำดับของภาพในอุโบสถแบ่งเป็น 3 ชั้นตามคติแนวความคิดแบบประเพณีนิยม ชั้นบนสุดเป็นภาพเทวดาและนางฟ้า ชั้นถัดลงมาเป็นภาพเทพชุมนุมทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ และชั้นล่างสุดระหว่างช่องหน้าต่างและบานประตูวาดภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ส่วนบนเพดานวาดลวดลายไทยเป็นรูปดาวตามคติประเพณี และโครงสร้างเสาและคานถูกตกแต่งด้วยลายไทย ปัจจุบันพบว่าอุโบสถและจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดสามแก้วเกิดการชำรุดทรุดโทรมมาก สาเหตุใหญ่เกิดจากน้ำฝนที่ไหลรั่วลงมาจากหลังคาอุโบสถที่มีสภาพเก่า กรมศิลปากรจึงร่วมกับวัดสามแก้วดำเนินโครงการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถวัดสามแก้ว แบ่งการบูรณะเป็น 2 ส่วนคือ 1.ส่วนโครงสร้างของอุโบสถที่เกิดการชำรุดเพราะมีการรั่วซึมของน้ำจากหลังคา และ 2.ส่วนจิตรกรรมฝาผนังและฝ้าเพดานภายในอุโบสถที่ได้รับความเสียหายจากความชื้นที่มีสาเหตุมาจากการรั่วซึมของน้ำฝนเช่นกัน ซึ่งการซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดสามแก้วถือเป็นงานที่ละเอียดอ่อน และต้องใช้ความประณีตมาก

กรมศิลปากรจึงมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมฝาผนังโบราณเป็นผู้ดำเนินการซ่อมแซม ให้มีสภาพเหมือนภาพเดิมมากที่สุด โดยจะไม่มีการต่อเติมเสริมแต่งในส่วนที่ไม่จำเป็นจริงๆ เด็ดขาด โครงการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถวัดสามแก้วใช้งบอุดหนุนประจำปี 2563 จำนวน 3,930,000 บาท มีเวลาดำเนินการ 180 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน-1 ธันวาคม 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้มีความมั่นคงแข็งแรง ให้ประชาชนเห็นคุณค่าความสำคัญของโบราณสถาน เกิดความภาคภูมิใจและหวงแหนมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษารูปแบบ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชุมพร

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักศิลปากรที่ 12 จ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าตรวจสอบรับมอบงานงวดที่ 1 โครงการการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถและจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดสามแก้วพบว่าส่วนโครงสร้างของอุโบสถการซ่อมแซมมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 40% ส่วนการซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถคืบหน้าแล้วประมาณ 60% เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการดำเนินงานซ่อมแซมอุโบสถและจิตรกรรมฝาผนังแบ่งการตรวจรับงานเป็น 4 งวดคือ งวดที่ 1 ใช้งบประมาณจำนวน 825,300 บาท แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 งวดที่ 2 ใช้งบประมาณจำนวน 1,572,000 บาท แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กันยายน 2563 งวดที่ 3 ใช้งบประมาณจำนวน 1,357,500 บาท แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 และงวดที่ 4 ใช้งบประมาณจำนวน 157,200 บาท แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2563

การซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดสามแก้วเป็นงานละเอียดอ่อนมาก ซึ่งจุดที่ซ่อมแซมยากที่สุดต้องใช้เวลานานก็คือส่วนของฝ้าเพดานซึ่งมีลวดลายเป็นลายไทย และสูงจากพื้นมาก จำเป็นต้องใช้ความประณีตและละเอียดของช่างผู้ซ่อมแซม อย่างไรก็ตาม คาดว่าการซ่อมแซมทั้งในส่วนของอุโบสถและจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถคงแล้วเสร็จตามสัญญาคือวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ทวีลาภ การะเกด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image