‘มโนราห์โกลน’ ศิลปะ 1 เดียวในตรัง เยาวชนร่วมอนุรักษ์สืบสาน

‘มโนราห์โกลน’
ศิลปะ 1 เดียวในตรัง
เยาวชนร่วมอนุรักษ์สืบสาน

บริเวณลานวัฒนธรรม วังหินลาด ลำธารสร้างสุข หมู่ 1 บ้านยูงงาม ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว นายเชื่อง ไชยสงคราม ผู้ใหญ่บ้าน ได้นำคณะ มโนราห์โกลน ชื่อคณะ “สามสลึง ตำลึงทอง” ของ นายชู พรหมมี อายุ 76 ปี ชาว ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว ซึ่งเป็นคณะมโนราห์โกลนที่เหลือเพียงคณะ 1 เดียวในจังหวัดตรัง มาทำการแสดง เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้ที่กำลังจะสูญหายไป เพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานถ่ายทอดสู่ประชาชนและเยาวชนคนรุ่นหลังให้รู้จักศิลปะการแสดงแขนงดังกล่าว

การแสดง มโนราห์โกลน เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวภาคใต้ ที่ดัดแปลงหรือเลียนแบบมาจากการแสดงศิลปะมโนราห์จริง ทั้งการแต่งกาย ท่ารำ บทกลอน แต่เน้นมุขตลกขบขัน สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชม โดยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจะมีครบทุกประเภทเช่นเดียวกับของมโนราห์จริง ทั้งเทริด พานโครง หรือรอบอก, บ่าซ้าย-ขวา, ปีกหน้า-ปีกหลัง หรือหางหงส์ แต่ทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น หางหงส์จะไม่สวมไว้ด้านหลัง แต่จะผูกสวมไว้กับเอวด้านหน้าของตัวนักแสดง การแต่งกายจะคล้ายสัตว์ต่างๆ เช่น ลิง คางคก เสือ“เครื่องแต่งกายเป็นลูกปัด ที่ทำจากเปลือกหอยชนิดต่างๆ หรือพลาสติกรูปทรงต่างๆ นำมาร้อยเป็นพวง ดินสอ หลอดกาแฟ ปากกา ไม้หนีบผ้า กระป๋องน้ำ ขวดนม เป็นต้น สามารถนำมาตกแต่งเป็นเครื่องประดับตามร่างกายได้ทั้งหมด ส่วนการแต่งหน้าจะใช้สีต่างๆ ทาตามใบหน้า ทาปากสีดำ เมื่อขึ้นทำการแสดงก็ร่ายรำเลียนแบบท่ารำของมโนราห์จริง แต่จะเป็นท่ารำที่หยาบๆ เก้ๆ กังๆ พลิกแพลงให้เป็นท่ารำที่พิสดารออกไป แต่มือของคนรำจะไม่งอนเด้งไปข้างหน้า แต่จะคว่ำมือ (งอมือ งอนิ้ว) เข้าหาตัว บทกลอนที่ขับก็คล้ายกับกลอนมโนราห์ อาจจะนำเครื่องราวในชุมชน หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวัน มาแต่งเป็นบทกลอน ส่วนเครื่องดนตรีจะใช้เครื่องดนตรีชนิดเดียวกับมโนราห์จริง ทั้งทับหรือโทน, กลอง, ปี่, โหม่ง, ฉิ่ง, แตระหรือแกระ แต่ลักษณะของเวทีทำการแสดง จะเปิดโล่งไม่มีฉากกั้น ระหว่างเวทีด้านหน้ากับห้องแต่งตัวนักแสดง (ซึ่งโรงแสดงมโนราห์จริงจะมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่) ทั้งนี้ การแสดงดังกล่าวได้สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ชมที่เดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กๆ จะสนใจเป็นอย่างมาก”นายปฏิภาณ พรหมมี อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนทุ่งหนองแห้งประชาสรรค์ กล่าวว่า รูปแบบการแต่งหน้าเน้นจินตนาการ ไม่เอาสวย แต่ให้ผู้ชมชอบ ส่วนตัวฝึกฝนการรำมโนราห์โกลนมานานแล้ว ตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล 2 ที่ตนสนใจรำมโนราห์โกลน เพราะเป็นการแสดงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ตนเองก็ถูกคุณพ่อจับมารำ จึงรำมาตลอดไม่อายเพราะอยู่ในสายเลือด หลังจากนี้ก็ตั้งใจว่าจะรำต่อไป และถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของตัวเองต่อไปด้วย เพราะเป็นศิลปะการแสดงวัฒนธรรมที่คนน้อยนักจะได้เห็น อยากให้คงอยู่คู่กับภาคใต้ตลอดไป

นายภูเบศ สงพิน อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสภาราชินี 1 อ.เมือง กล่าวว่า รู้จักและผูกพันกับการแสดงมโนราห์โกลนมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเป็นคนในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้สนใจมากนัก แต่มีครั้งหนึ่งคุณครูที่โรงเรียนให้โจทย์งานมาทำ เกี่ยวกับเรื่องที่น่าสนใจภายในท้องถิ่นของตนเอง จึงเห็นว่ามโนราห์โกลนไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก จึงเขียนรายงานเรื่องมโนราห์โกลนส่งครู เพื่อให้ครูและเพื่อนๆ ที่เมืองได้รู้จัก อยากจะถ่ายทอด ส่วนการรำมโนราห์จริง ตนเองจะรับบทเป็น “นายพราน” ทั้งนี้ จากการทำงานส่งครู จึงทำให้ตนเองมีความรู้เพิ่มมากขึ้น และเห็นคุณค่าว่าเราควรจะอนุรักษ์เอาไว้ ส่วนตัวอยากเชิญชวนให้วัยรุ่นทุกคนได้เห็นคุณค่าของการแสดงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเอง

นายชู พรหมมี หัวหน้าคณะมโนราห์โกลน “สามสลึง ตำลึงทอง” กล่าวว่า แรกเริ่มที่สนใจทำการแสดงมโนราห์โกลน เริ่มจากมีคณะกลองยาวก่อน แต่เห็นว่ารำกลองยาวก็ซ้ำๆ และเหนื่อย จึงคิดเอามโนราห์โกลนมาร่วมขบวนแห่กลองยาวด้วย หลังจากนั้นก็ทำคณะ ฝึกหัดนักแสดงทั้งคนเฒ่าคนแก่ และขณะนี้ทำการถ่ายทอดสู่เยาวชน ในคณะนี้จึงมีรวมกันประมาณ 20 คน เพื่อหวังให้สืบสานต่อไปไม่ให้สูญหาย เดิมในจังหวัดตรังมีประมาณ 2-3 คณะแต่ขณะนี้สูญหายหมดแล้ว ไม่มีคนรุนใหม่มาแทนที่ จึงเหลือเพียงคณะเดียว ที่ผ่านมารับงานแสดงไปรำโชว์ทั่วทั้งในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะส่วนราชการจะนิยมว่าจ้าง ส่วนค่าจ้างแล้วแต่เจ้าภาพจะให้ขึ้นอยู่กับระยะทาง เช่น 8,000-9,000 บาท หรือเป็นหลักหมื่น ไปไกลสุดที่กรุงเทพฯ เจ้าภาพให้ 50,000 บาท ได้เงินมาก็จ่ายค่ารถ ค่ากินอยู่ของลูกหลานในวง ที่เหลือก็แบ่งให้เป็นค่าขนมแก่ทุกคน

Advertisement

นายเชื่อง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.โพรงจระเข้ กล่าวว่า ปกติมโนราห์โกลน “สามสลึง ตำลึงทอง” ของลุงชู อยู่ที่ ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง แต่การส่งเสริมและสืบสานอนุรักษ์ ต้องอาศัยเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งใน ต.นาชุมเห็ด, ต.โพรงจระเข้ และตำบลอื่นๆ ใกล้เคียง ส่วนตัวก็ได้พยายามชักชวนเด็กๆ มาฝึกซ้อม เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่รู้สึกรักและหวงแหนศิลปะการแสดงท้องถิ่นกำลังจะสูญหาย โดยเฉพาะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว ก็จะเสนอให้มีการแสดงมโนราห์โกลน โดยพบว่าได้รับความสนจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image