‘จันทบุรีโมเดล’ สะดุด ลำไย 2 แสนไร่-เจ๊ง 4 หมื่นล้าน

“จันทบุรีโมเดล” คือ ข้อตกลงระหว่าง กระทรวงแรงงาน และ ศบค. อนุญาตให้ จ.จันทบุรี เป็นจังหวัดนำร่องในการเปิดรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาความต้องการใช้แรงงานเก็บลำไยช่วยเกษตรกรไม่ให้ประสบปัญหาล้มละลาย

ไฟเขียวแรงงานกัมพูชาชุดแรก 400 รายเดินทางเข้าไทยผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่จังหวัดชายแดนอื่นๆ ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมรับตัวแรงงานต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาใน จ.จันทบุรี พร้อมทำความเข้าใจผู้ประกอบการล้งผลไม้และชาวสวนเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรค ก่อนปล่อยให้ผู้ประกอบการนำตัวแรงงานเข้าสู่พื้นที่กักตัวเพื่อรอดูอาการเป็นเวลา 14 วัน แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดทางการกัมพูชาไม่ปล่อยตัวแรงงานที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงาน โดยอ้างว่าติดขัดด้านเอกสารจนทำให้แรงงานที่พากันเดินทางมารอข้ามประเทศบริเวณด้านหน้าจุดผ่านแดนไทย-กัมพูชา ต้องปักหลักนอนรอและไม่ยอมเดินทางกลับบ้านเกิด

แม้ลำไยล็อตแรกในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่รอดพ้นจากปัญหาขาดแคลนแรงงานมาได้อย่างทันท่วงทีโดยผู้ประกอบล้งในพื้นที่รวบรวมแรงงานต่างด้าวและแรงงานเก็บมังคุดที่ตกค้างอยู่ก่อนช่วงโควิด-19 มาได้ประมาณ 1 หมื่นคนที่กระจายอยู่ตามสวนผลไม้ต่างๆ คิดเป็นตัวเลขประมาณ 30% จากตัวเลขปกติที่มีความต้องการใช้คือประมาณ 5 หมื่นคนภายใน 2 อำเภอทั้งโป่งน้ำร้อนและสอยดาวที่จะต้องนำเข้ามาในช่วงเวลา 8 เดือน สำหรับกระบวนการผลิตทั้งหมดของธุรกิจลำไย แม้ความชำนาญจะมีไม่เท่าซึ่งช่วยให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แต่สำหรับลำไยส่วนที่เหลืออีกกว่า 2 แสนไร่ที่ผลผลิต 70% ที่เหลือยังคงรอความชัดเจน

นายประพล ศิรินภารัตน์ เจ้าของล้งลำไย ป.ประพล พื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในช่วงเก็บเกี่ยวลำไยในครั้งนี้ถือว่าสร้างปัญหาให้กับทางชาวสวนลำไย และผู้ประกอบการล้งรับซื้อเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางล้งได้วางมัดจำไว้แล้วประมาณ 100 ล้านบาท ต้องการปริมาณผลผลิตลำไยขั้นต่ำประมาณ 200 ตู้ หรือประมาณ 5 ล้านตัน แต่จากปัญหาโควิด-19 ทำให้ยกเลิกการเคลื่อนย้ายแรงงาน จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเก็บเกี่ยวลำไยได้ถึง 30% ของจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ ตลาดประเทศจีนมีความต้องการลำไยสูงเนื่องจากสินค้ากำลังขาดตลาดจึงทำให้ราคา ณ ปัจจุบันอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 30 ถึง 35 บาท

Advertisement

ทั้งนี้ ฝากวิงวอนภาครัฐให้เร่งจัดการแก้ปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยเร็วเพื่อป้องกันการขาดทุนซ้ำซ้อน ขณะนี้ตนเองไม่กล้าทำสัญญาวางมัดจำล่วงหน้าสำหรับการผลิตลำไยปีการผลิตหน้า เนื่องจากปีนี้ไม่แน่ใจว่าจะสามารถหักหนี้ส่วนต่างได้จากชาวสวน ที่บริษัทวางมัดจำไปกว่า 100 ล้านบาท กลับคืนมาได้มากน้อยอย่างไร และเมื่อไม่สามารถทำสัญญาปีการผลิตลำไยล่วงหน้าได้ ชาวสวนที่สายป่านสั้นหรือไม่มีต้นทุนก็จะไม่สามารถทำลำไยในฤดูการผลิตหน้าได้อย่างแน่นอน และอาจจะต้องเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น สำหรับความต้องการแรงงาน เฉพาะ ล้ง ป.ประพล ต้องการมากกว่า 1 พันคน ที่จะใช้กระจายออกทำงานตามสวนลำไยที่เป็นคู่สัญญา โดยเบื้องต้นได้แก้ปัญหานี้ โดยการจ้างแรงงานคนไทยเข้ามาทำงาน แต่ว่ามีเพียงส่วนน้อยที่สนใจในงานเก็บลำไย เนื่องจากต้องใช้ความอดทนและทักษะความชำนาญ โดยแรงงานคนไทยสามารถเก็บได้ประมาณวันละ 7-8 ตะกร้า ต่างกับแรงงานชาวกัมพูชาที่จะเก็บได้ประมาณวันละ 15 ตะกร้า โดยคิดค่าแรงเป็นจำนวนตะกร้า ตะกร้าละ 50 บาท

ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการล้งผลไม้ประเทศจีนใน จ.จันทบุรี ระบุว่า ปัญหาแรงงานส่งผลให้ตัวแทนล้งประเทศจีนหลายบริษัทชะลอการทำสัญญาซื้อขายลำไยในฤดูการผลิตหน้าทันที เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา แต่ บ.นิรันทร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้งจำกัด ยังคงทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พร้อมจ่ายมัดจำต่อเนื่อง โดยคาดว่าทางรัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาได้ทัน ก่อนปลายนี้

คาดว่าผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ผลผลิตลำไยคุณภาพอายุระหว่าง 195 วัน เป็นกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน พร้อมออกเดินทางด้วยระบบขนส่งมาตรฐาน ที่ใช้เวลาอีกว่า 7 วัน ในการเดินทางกระจายสู่ 3 มณฑลของจีน ซึ่งยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและมีราคาตลาดปลายทางที่น่าสนใจซึ่งความเสียหายจากการแรงงานไม่เพียงผลผลิตเน่าเสียคาดอาจทำลายมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ผู้ประกอบการล้ง “ไท่ฟงหยวน” พื้นที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี บอกว่า การเดินทางข้ามแดนของแรงงานกัมพูชาที่ต้องการมาเก็บลำไยล่าช้า เพราะการนำเข้าแรงงานทั้งหมดเป็นเรื่องที่ภาครัฐ และสมาคมการค้าชายแดนต้องร่วมการเจรจาร่วมกัน ผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรในพื้นที่

ซึ่งทุกฝ่ายได้พยายามผลักดันอย่างเต็มที่พร้อมกักตัวและคัดกรองรวม 14 วันเพื่อสร้างความมั่นใจการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในช่วงวิกฤตโควิด-19 สวนลำไยขนาด 15 ไร่ในพื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน บางส่วนเสียหายกว่าร้อยละ 30 แม้ว่าจะมีการประกาศรับแรงงานคนไทยอย่างต่อเนื่องแต่ไม่มีแรงงานคนไทยเดินทางเข้ามาสมัครแม้แต่คนเดียว เนื่องจากชาวสวนต้องการแรงงานฝีมือที่มีความชำนาญสามารถเริ่มงานได้ทันที มีทักษะสำคัญในการเก็บคัดแยกขนาดไซซ์ของผลลำไย เพื่อไม่ให้กลายเป็นผลผลิตรวมไซซ์ที่สำคัญคือวินัยและความอดทนในการทำงาน จากการประเมินตัวเลขมูลค่าการส่งออกกว่า 250 ล้านบาทต่อปีในทั้ง 4 มณฑลของจีน การทำสัญญาซื้อขายจ่ายเงินล่วงหน้ามีโอกาสสูญเปล่า หากผลผลิตเสียหายจากการที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ

ด้าน นางธีรศุกร์ บุญช่วยเหลือ จัดหางานจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ความต้องการใช้แรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งได้มีการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง ใน 4 กลุ่มโดยอนุโลมให้ทำงานต่อได้ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2565 โดยที่สำนักงานจัดหางาน จังหวัดจันทบุรี ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในทุกท้องที่ได้สำรวจแรงงานต่างด้าวที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่และไม่ได้เดินทางกลับประเทศในช่วงโควิด-19 ที่สนใจไปย้ายนายจ้างไปทำงานสวนลำไยในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและสอยดาวเพื่อช่วยบรรเทาขาดแคลนแรงงาน ในช่วงที่มีการปิดจุดผ่านแดนถาวร หากอนาคตปัญหาแรงงานต่างด้าวยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกิดจากสถานการณ์โรคระบาดหรือปัญหาใดๆ ก็ตาม การที่ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะควบคุมได้ การเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงาน รวมทั้งลดกลุ่มงานที่ต้องอาศัยแรงงานคนหันมาพัฒนาฝีมือแรงงานภายในประเทศหรือนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้นำวิกฤตโควิด-19 มาเป็นบทเรียน

ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ สินค้าเกษตรอาจเป็นพลังขับเคลื่อนกระตุ้นส่งออกนำเงินเข้าประเทศ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ยังขาดความชัดเจนถึงแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งผลผลิตด้านการเกษตรมีเงื่อนเวลาจำกัด หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องรีบเข้าไปแก้ไขโดยด่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image