น้ำท่วม ทำคนโคราชป่วย-บาดเจ็บเกือบ 8,000 ราย สาธารณสุข เร่งลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัย

น้ำท่วม กระทบคนโคราชป่วย-บาดเจ็บเกือบ 8,000 ราย สาธารณสุข เร่งลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัย

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ทีมสาธารณสุขอำเภอโนนสูง , โรงพยาบาลโนนสูง และ รพ.สต.ในพื้นที่ เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านหนองโจด หมู่ 6 และบ้านวังม่วง ตำบลลำมูล อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา หลังพบว่า ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยผู้อายุติดบ้านติดเตียง จำนวน 3 ราย, ผู้พิการ 2 ราย และพระสงฆ์ 1 ราย จึงมอบชุดดูแลสุขภาพเบื้องต้น จำนวน 80 ชุด และมอบเวชภัณฑ์ยาทาน้ำกัดเท้า จำนวน 100 หลอด ให้กับผู้ประสบภัย โดยมีนายอนุพงศ์ ชาวคอนไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโนนสูง , นายกุศล เชื่อมกลาง สาธารณสุขอำเภอโนนสูง และทีมอำเภอโนนสูง ตลอดจน อสม. ร่วมกันรับมอบเวชภัณฑ์และชุดดูแลสุขภาพสำหรับนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ยังได้สั่งการให้จัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน Emergency Operation Center หรือ EOC ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์และในกรณีเร่งด่วน เพื่อประเมินสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมด้านยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนสรุปผลการดำเนินงานให้การช่วยเหลือทุกวัน

จากข้อมูลสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดระบุว่า มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัด จำนวน 24 ตำบล 1 เทศบาลนคร 3 เทศบาลตำบล 99 หมู่บ้าน 3 ชุมชน 3,327 ครัวเรือน ใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากช่อง โชคชัย เมืองนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ จักราช โนนสูง และอำเภอพิมาย และอีก 7 อำเภอสถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว ได้แก่ อำเภอปักธงชัย สูงเนิน สีคิ้ว ขามทะเลสอ ด่านขุนทด โนนไทย และอำเภอเสิงสาง ซึ่งหน่วยบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 348 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 32 แห่ง และโรงพยาบาลอีก 33 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ทั้งนี้ได้ให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ จำนวน 7,433 ราย ,บริการผู้ป่วยติดเตียง 84 ราย , มาขอรับยาโรคเรื้อรัง 308 ราย , จัดส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน 116 ราย และให้คำปรึกษาเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย 825 ราย

Advertisement

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บในพื้นที่น้ำท่วม จะมารับการรักษาอาการน้ำกัดเท้า มากสุด รองลงมาคือ โรคผิวหนัง และโรคทางเดินหายใจตามลำดับ ส่วนการให้การสนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้จัดชุดดูแลสุขภาพเบื้องต้น ไปช่วยเหลือ จำนวน 1,000 ชุด ยาชุดน้ำท่วม 5,050 ชุด ยาตำราหลวง 2,500 กล่อง ยาทาแก้น้ำกัดเท้า 3,504 หลอด และยังมียาและเวชภัณฑ์อื่นๆอีก อาทิ ยาทากันยุง, คู่มือน้ำท่วม, รองเท้าบูท, ถุงมือ, เซอร์จิคัล แมส และแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการเจ็บป่วย หรือประสบเหตุ สามารถโทร.ขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วน 1669 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และสายด่วนน้ำท่วม 1784 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image