‘ทวี’ ชู’น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน สิทธิของเกษตรกรและบุคคลที่ทำงานในเขตชนบท

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่จ.น่าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.)ได้ร่วมกิจกรรมวันสถาปนาโครงการ “น้ำพางโมเดล” ที่อำเภอแม่จริม จ.น่าน จากเขาหัวโลนเป็นระบบเกษตรเชิงนิเวศครบ 5 ปี ที่โรงเรียนน้ำพาง โดยพ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวั่นใจกับนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล เมื่อปี 2558 เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ของชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านน้ำพางจึงรวมตัวลุกขึ้นสู้ผ่านโครงการ ‘น้ำพางโมเดล’ ที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมากลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เพราะทำไร่ข้าวโพดมานาน การลุกขึ้นของชาวน้ำพางเพื่อรักษาวิถีชีวิตเกษตรกร สิทธิชุมชน ด้วยการคนอยู่กับป้าที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและบริบทท้องถิ่นที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

“กฏหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายไทยที่เกี่ยวกับที่ดิน ป่าไม้ และที่ดินของรัฐเป็นกฏหมายที่ใช้เหมารวมเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ ไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจเป็นรัฐรวมศูนย์ ที่เอาทรัพยากรอำนาจไปรวมไว้ส่วนกลาง จึงไม่เหมาะสมกับบริบทของวิถีชีวิตของประชาชนในบางพื้นที่ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับปฏิญญาสหประชาชาติสว่าด้วยสิทธิของเกษตรกรและบุคคลอื่นที่ทำงานในชนบท ที่สมัชชาสหประชาชาติ รับรองเมื่อธันวาคม 2561 ซึ่งมีสาระสำคัญ 28 ข้อ โดยรับรองสิทธิเกษตรกรและบุคคลอื่นที่ทำงานในเขตชนบทมีสิทธิที่จะเข้าถึง ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในชุมชนของตนด้วยวิธีการที่ยั่งยืน ที่จำเป็นต่อเงื่อนไขการดำรงชีพที่เพียงพอ สิทธิด้านการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อม ความสามารถในด้านการผลิตของที่ดินของตน การบริหารจัดการ ในปฏิญญาฉบับนี้ ประชาชนที่เป็นเกษตรกรคนในชนบทมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากร เข้าถึง ใช้ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเท่าเทียม เพื่อการปฏิรูปการเกษตร และการตั้งรกรากบนแผ่นดินได้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยเป็นปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องปฏิรูปทั้งระบบ ต้องเริ่มที่แนวคิด ‘ทรัพย์ของแผ่นดินต้องเป็นทรัพย์ของประชาชน’ ไม่ใช่ของรัฐราชการ โดยรัฐบาลทำหน้าที่เพียงเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและชุมชนเป็นผู้จัดการปัญหาด้วยตนเอง ไม่ควรที่จะเอาไปอยู่ในอุ้งมือของข้าราชการ หรือผู้มีอำนาจอย่างเดียว การปฏิรูปนอกจากรับโครงสร้าง การบริหาร ระบบกฎหมายแล้วต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเรื่องที่ดินทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้คนชนบทและเกษตรกรเข้าถึงความยุติธรรมอย่างความเป็นจริง ถูกต้อง เป็นธรรม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนพบว่าปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องแนวเขตที่ดินขาดความชัดเจน ที่ดินของประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320 ล้านไร่เศษ แต่ปรากฏว่าที่ดินที่รัฐที่จัดทำแนวเขตของที่ดิน (โครงการ ONE MAP ที่จัดทำมานานแล้วแต่ยังไม่เสร็จ) พบว่ามีพื้นที่ของรัฐประมาณ 458 ล้านไร่เศษและเมื่อรวมกับที่ดินเอกชนที่เป็นเอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนดที่ดิน ประมาณ 128 ล้านไร่เศษจะประมาณ 556 กว่าล้านไร่ เกินกว่าที่ดินทั้งประเทศไทยเกือบเท่าตัวแล้ว พอประชาชนถูกดำเนินคดี รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ต่างกับรัฐธรรมนูญก่อนๆเช่น รัฐธรรมนูญปี40 หรือ 50 ที่กำหนดต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม พอบังคับใช้กฏหมายประชาชนย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดี เนื่องจากกฏหมายไม่แน่นอนและมีส่วนไม่เป็นจริงถือเป็นกฏหมายการละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีของประชาชนด้วย

Advertisement

เลขาธิการพรรค ปช.กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐได้ทุ่มงบประมาณให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบในแต่ละปีประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไม้ แต่พอดูภาพถ่ายทางอากาศก็ป่าหายทุกทีเลย รัฐอ้างผลงานที่ไปยึดกรรมสิทธิ์ที่คืนจากคนยากไร้ คนที่อาศัยอยู่ในป่ามาหลายชั่วอายุที่ทำมาหากินต่อเนื่อง แต่ถ้าดูภาพถ่ายทางอากาศรัฐไม่สามารถรักษาป่าไม้ได้ด้วยซ้ำเพราะภาพถ่ายป่าจะหายไปตลอด และการบุกรุกทำลายป่ายังมีอยู่ ที่สำคัญรัฐไม่จริงจังทวงคืนจากคนรวยที่ไปเช่าป่าเช่าพื้นที่ในราคาถูกๆ พอหมดอายุสัญญายังทำลูบหน้าปะจมูกไม่ยึดคืนรัฐที่มีพื้นที่ประมาณหลายล้านไร่ขณะนี้ทำการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ไม่เกิดขึ้นจริง

“น้ำพางโมเดล ถือเป็นการลุกขึ้นสู้เพื่ออยู่รอดเป็นชีวิต เพื่อสิทธิชุมชน จากนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นกรมอุทยานคืออุทยานแห่งชาติดอยภูคา ซึ่งเพิ่งประกาศภายหลัง และกรมป่าไม้คือป่าสงวนป่าน้ำว้า-แม่จริม เนื้อที่ประมาณ 1,875ไร่ ชาวบ้านประมาณ 134 ราย เพื่ออนาคตชาวบ้านได้มีความเห็นร่วมกันจนมีมติเป็น ‘น้ำพางโมเดล’ จึงเกิดขึ้นให้คนอยู่กับป่า อยู่กับทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน เป็นการยืนยันสิทธิในการพัฒนาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กำหนดชะตากรรมเพื่อยังชีพ เพื่อตลาด พึ่งพิงแรงงานในครอบครัวหรือในครัวเรือน เป็นสำคัญ แม้จะไม่พึ่งเพียงแต่อย่างเดียว การพัฒนาต้องใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่รัฐรวมศูนย์ การให้คุณค่าสิทธิของเกษตรกรและบุคคลที่ทำงานในเขตชนบท ตามแนวทางสหประชาชาติถือว่าเป็นการพัฒนาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ให้ความสำคัญในคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นการพัฒนาที่ยังยืน”เลขาธิการพรรค ปช.กล่าว

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image