สถ.จับมือกรมอนามัย ผลิตอาสาบริบาลท้องถิ่น รองรับสังคมสูงวัย ช่วยสร้างงาน-รายได้ในชุมชน

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลนครนครปฐม จ.นครปฐม นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อม น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมกันมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมในโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ประจำปี พ.ศ. 2563 รุ่นที่ 1 – 4 ของจังหวัดนครปฐม 205 คน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)105 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

นายเอกพันธุ์ คุปตวัช นายกเทศมนตรีนครนครปฐม กล่าวรายงานว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่อนุมัติงบประมาณให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)ดำเนินโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น โดยกำหนดให้ฝึกอบรมตามหลักวิชาการและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย อปท.ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากก่อให้เกิดการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรด COVID-19 มาร่วมปฏิบัติงานเป็นอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น

“เทศบาลนครนครปฐม ขอชื่นชมต่อโครงการดังกล่าวและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือและสนองตอบต่อนโยบายของรัฐ และส่วนราชการต่าง ๆ พร้อมทั้งยินดีต้อนรับอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นทุกท่านที่จะมาร่วมกันพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขของท้องถิ่ ในต้านการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงให้ได้รับบริการ ด้านสาธารณสุขในทุกด้านและครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่” นายเอกพันธุ์ กล่าว

นายประยูร กล่าวว่า โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น เป็นความห่วงใยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ประสงค์ให้อปท.ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมไปเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด – 19 ประโยชน์ของโครงการนี้ จึงเป็นพหุประสงค์ นอกจากทำให้เกิดการจ้างงานที่สร้างรายได้ให้ประชาชน 15,548 คนแล้ว ยังสร้างอาชีพใหม่ คือ อาชีพนักบริบาล ซึ่งนับแต่วันนี้ไปจนครบ 12 เดือนข้างหน้า จะร่วมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงด้านอนามัยพื้นฐาน ร่างกาย จิตใจ กว่า 80,000 คนทั่วประเทศ หลังจากผ่านการฝึกอบรม ทุกคนสามารถไปประกอบอาชีพในสถานประกอบการ หรือเป็นนักบริบาลอิสระได้ อีกทั้งยังสามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุขั้นสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพในอนาคตได้

Advertisement


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในระยะต่อไป กรมอนามัยเร่งขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เพื่อรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการปฏิบัติงานและจัดทำหลักสูตรการอบรมผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) รวมถึงหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) 70 ชั่วโมงและ 420 ชั่วโมง

ขณะนี้มีผู้ผ่านการอบรมและปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เป็น Care Manager 13,615 คน Caregiver 86,404 คน และได้ขยายความครอบคลุมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและประชาชนทุกกลุ่มวัยที่มีภาวะพึ่งพิงให้เข้าถึงระบบการดูแลส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาและการเข้าถึงหน่วยบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และบริการฟื้นฟูสุขภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) เน้นบูรณาการด้านการจัดบริการทางด้านสาธารณสุขและสังคม โดยให้ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในระดับท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริการสาธารณสุขและสังคมมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image