ญาติโวย หมอให้ผู้ป่วยสมองบวมกลับบ้านได้ไม่ถึง 10 นาทีช็อก ผอ.รพ.สั่งสอบวุ่น

ญาติโวย หมอให้ผู้ป่วยสมองบวมกลับบ้าน ไม่ถึง 10 นาทีช็อกเสียชีวิต ผอ.รพ.สั่งสอบวุ่น

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลเลย น.ส.อัญญ์ฎานันท์ ไพศูนย์ อายุ 36 ปี พร้อมกับทนายความ และญาติ เข้าพบกับนายแพทย์ บัญชา ผลานุวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลย จากกรณี นางหนูคิด ไพศูนย์ อายุ 54 ปี อยู่ที่ ต.ธาตุ อ.เชียงคาน จ.เลย ได้ประสบอุบัติเหตุ ถูกรถยนต์ชนขณะขขี่รถจักรยานยนต์ เหตุเกิดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ได้รับบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง เพราะศีรษะกระแทกพื้นอย่างแรง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเลย และได้ทำการรักษาได้ 5 วัน หมอให้กลับบ้านขณะอาการยังไม่ดีขึ้น กลับบ้านไม่ถึง 10 นาที ผู้ป่วยช็อกและเสียชีวิต

น.ส.อัญญ์ฎานันท์เล่าว่า คนป่วยเป็นแม่ของตนเอง มารักษาตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.และในวันที่ 9 พ.ย. หมอให้กลับบ้านในขณะแม่ยังมีอาการปวดศีรษะและมึนงงอยู่ อีกทั้งยายผู้ดูแลแม่ก็บอกว่ายังไม่อยากกลับบ้าน ขอให้แพทย์รอดูอาการอีกระยะก่อน แต่ทางแพทย์ก็ยืนยันว่า อาการบาดเจ็บดีขึ้นแล้ว กลับไปพักฟื้นที่บ้านอีกประมาณ 1 เดือนก็หายเป็นปกติ หลังจากนั้นก็พาแม่กลับบ้าน เมื่อมาถึงได้ 10 นาที แม่ก็เกิดอาการช็อกหมดสติ ตนและญาติได้พากันส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเชียงคาน พยาบาลก็ช่วยกันปั๊มหัวใจ อาการยังไม่ดีขึ้น จึงรีบนำส่งต่อไปที่โรงพยาบาลเลย และเสียชีวิตในที่สุด

ตนและญาติทุกคน ติดใจในสาเหตุการตาย จึงขอให้โรงพยาบาลเลยส่งศพไปผ่าพิสูจน์ที่โรงพยาบาลศรีนครรินทร์ จ.ขอนแก่น ผลการผ่า แพทย์ระบุสาเหตุการตายว่า เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองช้ำบวม ซึ่งตนมาทราบจากแพทย์ว่า โรงพยาบาลเลยไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง การรักษาต้องคอยปรึกษาถามจากแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีตลอด การที่แม่เสียชีวิต ถือเป็นความผิดพลาดของแพทย์ ไม่มีการตรวจซ้ำก่อนให้แม่ออกจากโรงพยาบาล ทั้งที่แม่ยังมีอาการปวดหัว เดินไม่ได้ ขออยู่ต่อแต่หมอให้กลับบ้าน ในเรื่องนี้ตนขอต่อสู้จนถึงที่สุด ข้องใจทำไม รพ.ไม่มีหมอเฉพาะทางแต่ยังรักษาอยู่

ด้านนายแพทย์บัญชา ผลานุวงษ์ ผอ.โรงพยาบาลเลย กล่าวว่า หลังจากโรงพยาบาลเลยรับนางหนูคิดเข้ามารักษาอาการบาดเจ็บ มีการทำซีทีสแกนพบว่าเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ทางแพทย์เจ้าของไข้ ก็ได้ติดต่อประสานงานสอบถามแนวทางการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ว่าอาการเช่นนี้จะส่งตัวต่อที่อุดรฯหรือไม่ ซึ่งทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า ให้รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเลยตามคำแนะนำและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด กำหนดไว้ 6 วัน ซึ่งก่อนอนุญาตให้คนไข้กลับบ้าน แพทย์ก็ได้เข้าไปตรวจดูอาการ คนไข้มีการตอบรับที่ดี มีการพยักหน้า และพูดคำว่าขอกลับบ้าน

Advertisement

แต่ทางญาติอาจมีการเข้าใจผิดในการสื่อสารอย่างไรก็ตาม ต้องรอข้อมูลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความกระจ่างและให้แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลเลยได้เรียนรู้ด้วย จะได้กลับมาป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้กับผู้ป่วยรายอื่น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขวัญกำลังใจของแพทย์และพยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ต้องคำนึงถึงด้วย แต่หากพบว่ามีความผิด หรือบกพร่องจริงก็ต้องลงโทษตามระเบียบกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image