‘บุ่นเล้ง-สาธร’โชว์กึ๋น ชิงเก้าอี้นายกอบจ.ตรัง

‘บุ่นเล้ง-สาธร’โชว์กึ๋น ชิงเก้าอี้นายกอบจ.ตรัง

สนามเลือกตั้งจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครนายก อบจ.ตรัง เพียง 3 ราย แต่มีการแข่งขันสูงกว่าหลายจังหวัด และเป็นศึกสายเลือด แข่งขันกันเองภายในคนประชาธิปัตย์ แต่อำนาจบริหารงาน อบจ. มี ครูกิจ กิจ หลีกภัย พี่ชาย ชวน หลีกภัย ประธานสภา นั่งครองเก้าอี้มายาวนานกว่า 20 ปี แต่หลังจาก “ครูกิจ” วางมือทางการเมืองทำให้คน ปชป.ต่างหวังเข้ามาบริหารงานต่อ หลังเปิดสนามมีผู้สมัคร 3 ราย โดย 2 รายแรกเป็นสายเลือด ปชป.คือ หมายเลข 1 บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ เป็นหัวหน้าทีมกิจปวงชนซึ่งรับช่วงต่อจาก “ครูกิจ” หมายเลข 2 สาธร วงศ์หนองเตย ทีมตรังพัฒนาเมืองตรัง น้องชาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรค ปชป. และหมายเลข 3 ภูผา ทองนอก ทีมตรังก้าวใหม่

หากเทียบฟอร์มคู่ชิงนายก อบจ.โฟกัสไปอยู่ที่ “บุ่นเล้ง” และ “สาธร” ซึ่งมีฐานเสียง ปชป.หนุนทั้งคู่ สำหรับ “บุ่นเล้ง” อยู่ในตระกูลนักการเมืองที่ยึดหัวหาดพื้นที่เขต 3 ครอบคลุม อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน อ.หาดสำราญ อ.กันตัง ยังไม่รวมคะแนนสนับสนุนจากฝั่ง “ครูกิจ” ที่แน่นปึ้ก ส่วน “สาธร” ดีกรีน้องชาย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ก็ได้รับการยอมรับ และมีฐานเสียงของพี่ชายสนับสนุนไม่น้อยเช่นกัน ทั้งนี้ ทั้ง 2 ผู้สมัครต่างจัดทำนโยบายวิสัยทัศน์ การพัฒนาจังหวัดออกมานำเสนอประชาชนหลายด้าน

สำหรับ “บุ่นเล้ง” ประกาศจะสานต่อนโยบายของ “ครูกิจ” เร่งขับเคลื่อนนโยบายเอาใจคนรุ่นใหม่ ชู 8 นโยบายหลัก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่นและจังหวัดให้เจริญก้าวหน้า ได้แก่

1.“ท้องถิ่นตรัง” รวมเป็นหนึ่งของท้องถิ่นทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. ให้ก้าวเดินไปด้วยกัน เป็น “Trang Center” ศูนย์กลางประสานงานและช่วยเหลือ อปท.ภายใต้ตรังทุกรูปแบบ เพื่อการพัฒนาทุกพื้นที่ไปพร้อมกัน

Advertisement

2.เชื่อมตรัง เชื่อมใต้ เชื่อมโลก รองรับสนามบินนานาชาติ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รถโดยสาร อบจ. บริการรถบัสแอร์จากสนามบินเข้าเมือง ปรับปรุงท่าเรือคลองสน อ.สิเกา เชื่อมทะเลอันดามัน และท่าเรือน้ำลึกนาเกลือ อ.กันตัง เชื่อมเส้นทางทะเลโลก

3.พิชิตภารกิจเปิดเมืองตรังด้วยท่องเที่ยว วัฒนธรรม ทำนุบำรุงศาสนา เปิดเมืองท่า โชว์เมืองเก่า ไม่ลืมรากเหง้าคนตรัง

4.เปิดสายด่วน บรรเทาสาธารณภัย 24 ชั่วโมง ตั้งกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ติดตั้งระบบความปลอดภัย และเตือนภัยครอบคลุมทั้งจังหวัด

Advertisement

5.ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ใส่ใจยางพารา ปาล์ม ประมง กลุ่มสหกรณ์ สนับสนุนเกษตรกรยุคใหม่ และวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง

6.พัฒนาคุณภาพชีวิตดี มีมาตรฐาน ตั้งแต่เด็กถึงวัยชรา เป็นสังคมเท่าเทียมเสมอภาค ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความพิการทางกาย และถูกตีกรอบด้วยเรื่องเพศ

7.สร้างสาธารณสุขที่ดี ทุกพื้นที่สนับสนุนกีฬา โดยตั้งกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จัดการขยะ สานต่อโครงการเฝ้าระวังสุขภาพ เพิ่มเติมเรื่องสุขภาพจิต และพร้อมรับโอน รพ.สต. ใส่ใจดูแล อสม.

และ 8.อัพเกรดตรัง จริงจังด้วยเทคโนโลยี ฟังคนรุ่นใหม่สร้างเมืองทันสมัย สร้างช่องทางกระจายสินค้าพื้นบ้านให้ก้าวไกล ผ่านการใช้เทคโนโลยี

ฝั่ง “สาธร” หาเสียงโดยชูสโลแกน “เปลี่ยนตรังให้ดังและดีกว่าเดิม” พร้อมประกาศนโยบาย 12 ด้าน เพื่อพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดตรังให้เจริญก้าวหน้า ประกอบด้วย

1.“เมืองแห่งการมีส่วนร่วมโปร่งใส ตรวจสอบได้” เนื่องด้วย อบจ.ตรัง มีเงินสะสมและเงินฝากจำนวนมาก การใช้จ่ายต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจน โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เอกชน ภาครัฐ ดำเนินนโยบายและใช้จ่ายงบด้วยความโปร่งใส ปลอดการทุจริต

2.“สมาร์ทซิตี้ Smart City อบจ.ดิจิทัล” ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนพัฒนาเมืองในทุกมิติเพื่อยกระดับคุณภาพของคนตรัง

3.“เมืองดัง เมืองดีที่ต้องไป” โดยประสาน อปท.สนับสนุนให้มี Land mark ขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทุกมุมเมือง มีความหลากหลาย สนับสนุนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอารยธรรม บริเวณสถานที่ทางโบราณคดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงอย่างทั่วถึง เดินทางสะดวก เที่ยวครบจบในวันเดียว ทั้งฝั่งเขา ฝั่งนา ฝั่งทะเล

4.“เมืองอาหารดี กีฬาเด่น” ใช้จุดเด่นด้านอาหารและธรรมชาติส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ที่ทำตลาด โดย อบจ.ทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมผ่านประเพณี เอกลักษณ์ท้องถิ่น และจุดเด่นด้านอาหาร ให้เที่ยวได้ตลอดปี ส่งเสริมการจัดการแข่งขันกีฬา ลีกเยาวชนในจังหวัด แข่งระดับภาค เชื่อมสมาคมกีฬา เช่น มวยไทย ฟุตบอล

5.“เมืองการศึกษา” สนับสนุนให้มีการศึกษาเพื่อให้มีการจัดตั้ง “โรงเรียนต้นแบบ” ของ อบจ. 1 อำเภอ 1 โรงเรียน อบจ.

6.“เมืองสะดวกสบาย” โดยปรับคุณภาพการบริการของรถโดยสารสาธารณะของ อบจ.ให้มีความตรงต่อเวลา รวมทั้งศึกษาการเพิ่มเส้นทางบริการที่จำเป็น ส่งเสริมให้มีการใช้บริการรถโดยสารเอกลักษณ์ตรัง เช่น รถตุ๊กตุ๊ก ให้คงอยู่คู่ตรัง

7.“เมืองยางพารา” ส่งเสริม พัฒนาต่อยอดนำยางพาราแปรรูป โดย อบจ.นำร่องใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น เสาหลักนำทาง และอุปกรณ์ที่ทำด้วยยางพาราบนถนนของ อบจ.ตรัง และสนับสนุนให้ อปท.อื่นดำเนินการ ร่วมมือกับภาคประชาชนส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ต่อเนื่องจากยางพาราและต้นยางพารา

8.“เมือง 46 บ้านนา” ส่งเสริมอาชีพทำนาสงวนพื้นที่ทำนาไว้คู่ตรัง มีกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดปี เช่น พื้นที่นาหมื่นศรี และอื่นๆ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถให้ชาวนา หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำหน่ายข้าวโดยตรงต่อผู้บริโภคโดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์อย่างแท้จริง

9.“เมืองคุณภาพชีวิต” ส่งเสริมสนับสนุนเครือข่าย อสม.ร่วมกับ อปท.ให้มีความเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวังโรค สนับสนุนเครือข่ายการบรรเทาสาธารณภัยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สนับสนุนการกีฬาของตรังเป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิต และสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ของ อบจ.เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการดูแลสุขภาพของประชาชน

10.“เมืองชุมชนกรุณา” ส่งเสริม สนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาทำความดีดูแลสังคม ร่วมกับเครือข่ายของทุกศาสนา

11.“เมืองสะอาด” เพิ่มระบบการจัดการขยะให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นแทนที่การฝังกลบแบบเดิม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองตรังให้น่าอยู่

และ 12.“เมืองทรัพยากรสมดุลยั่งยืน” ตรังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์หลากหลาย ทั้งเขา ป่า นา เล สนับสนุน ส่งเสริม การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน

แม้มีฐานเสียงสนับสนุนหนักแน่นทั้งคู่ แต่ที่เหลือเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์นักบริหาร นโยบายการพัฒนา หากถูกใจ โดนใจประชาชน ย่อมช่วงชิงคะแนนนิยมไปครอง ปูทางเข้านั่งเก้าอี้นายก อบจ.ได้สมใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image