ด่วน! มวลน้ำก้อนใหญ่จ่อเคลื่อนเข้าเขตเศรษฐกิจเทศบาลนครศรีฯ

มวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะเคลื่อนเข้าเขตเศรษฐกิจเทศบาลนครนครศรีธรรมราช

มวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะเคลื่อนเข้าเขตเศรษฐกิจเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ในเวลาประมาณ 18.00 น.พ่อเมือง ปล่อยชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าสนับสนุนพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงเพิ่ม พร้อมสั่งระดมเครื่องมือ อุปกรณ์ช่วยเหลือ ประจำศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ เสียใจมีผู้ตายแล้ว 1 สั่งเร่งค้นหาผู้สูญหายอีก 1

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช/ผู้บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดนครศรีธรรมราช ปล่อยชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ประสบภัย โอกาสนี้ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเตรียมรับมือใน 4 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง และเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังหากไม่ไหวให้ร้องขอกำลังเสริม โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมทั้งกล่าวแสดงความเสียต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำหลากในพื้นที่อำเภอฉวาง พร้อมกำชับเร่งค้นหาผู้สูญหายอีก 1 ราย จากเหตุการณ์น้ำพัดพาในพื้นที่อำเภอนบพิตำ กำชับสั่งการเจ้าหน้าที่เต็มกำลังรับมือมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะเคลื่อนเข้าเขตเศรษฐกิจเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ในเวลาประมาณ 18.00 น.วันนี้(2 ธ.ค.63)

อย่างไรก็ตามเพื่อความคล่องตัวในการสั่งการและให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งระดมเครื่องมือ อุปกรณ์ช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ขณะที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนความเสียหายและผลกระทบในภาพประชาชนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 22,000 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย 16 อำเภอ 95 ตำบล 492 หมู่บ้าน 29 ชุมชน (อำเภอชะอวด,จุฬาภรณ์,ทุ่งสง,เมืองนครศรีธรรมราช,พระพรหม,ร่อนพิบูลย์,ท่าศาลา,พิปูน,นาบอน,ลานสกา,สิชล,เฉลิมพระเกียรติ,เชียรใหญ่,นบพิตำอำเภอขนอม และอำเภอปากพนัง) ประชาชนได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย มีบ้านพักเสียหายบางส่วน จำนวน8 หลัง(อ.นาบอน 1 หลัง , อ.ท่าศาลา 7 หลัง) สถานศึกษา ได้รับผลกระทบ 15 แห่ง ประกาศหยุดการเรียนการสอน 6 แห่ง วัด/มัสยิด/โบสถ์อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ,ด้านการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานด้านพืชมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 9 อำเภอ 67 ตำบล 624 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรประสบภัย 302,337 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว 35,838 ไร่ พืชไร่ 9,429 ไร่ (ข้าวโพดหวาน พริกขี้หนู มะเขือ ฟักเขียว มันแกว ถั่วลิงสง ถั่วฝักยาว) และพืชสวน 257,070 ไร่ (ปาล์มน้ำมันเล็ก ยางพาราเล็ก) ส่วนด้านประมง และด้านปศุสัตว์ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

นอกจากนี้ยังมีประชาชนเดือดร้อนจากผลกระทบจากสถานการณ์วาตภัย (ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563–2 ธันวาคม 2563) ส่งผลให้เกิดสถานการณ์วาตภัย (ต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน และหลังคาเสียหายเนื่องจากแรงลม) ในพื้นที่ 3 อำเภอ รวม 11 ตำบล 49 หมู่บ้าน บ้านพักเสียหายบางส่วน จำนวน 131 หลัง ประกอบด้วย อำเภอสิชล จำนวน 6 ตำบล 27 หมู่บ้านบ้านเรือนเสียหายบางส่วน จำนวน 56 หลัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ได้ให้การช่วยเหลือซ่อมแซม และมอบอุปกรณ์มุงหลังคาแล้ว ,อำเภอท่าศาลา จำนวน 2 ตำบล 7 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายบางส่วนจำนวน 25 หลัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ได้ให้การช่วยเหลือซ่อมแซม และมอบอุปกรณ์มุงหลังคาแล้ว และอำเภอหัวไทร จำนวน 3 ตำบล 15 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน จำนวน 55 หลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ได้ให้การช่วยเหลือซ่อมแซม และมอบอุปกรณ์มุงหลังคาแล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ตามทางศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ประกาศเขตภัยพิบัติ 21 อำเภอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมประสานเร่งให้การช่วยเหลือและอพยพประชาชนอย่างเร่งด่วน

ขณะที่ พล.ต.ต.ธรรมนูญ ประยืนยง ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยกำลัง สภ.เมือง นศ.ได้ออกตรวจตราเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนประสบปัญหาภาวะน้ำท่วม ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช อีกทั้งได้ตรวจสภาพจราจรและประชาสัมพันธ์ทางเสียงโทรโข่งเพื่อให้ประชาชนทราบในการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่ได้รับประสานว่าจะมีมวลน้ำเพิ่มขึ้น พร้อมได้มอบสิ่งของเครื่องอุปโภคไข่ไก่และน้ำดื่ม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นและเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image