‘ระนอง-ชุมพร’ ปลื้ม ฟื้นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์

อีกโครงการหนึ่ง ที่ “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลาง-ยาว ในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 (ศบศ.) เตรียมผลักดันคือ โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางชุมพร-ระนอง ความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

เป็นอีกจิ๊กซอว์ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยไปยังทะเลฝั่งอันดามัน รวมทั้งช่วยขนส่งสินค้าจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไปยังท่าเรือระนอง เป็นการเปิดเส้นทางการส่งออกไปยังฝั่งอันดามัน เพื่อเชื่อมต่อกับ กลุ่มประเทศบิสเทค (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation : BISTEC) หรือกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บังกลาเทศ-อินเดีย-ศรีลังลา-ไทย

เส้นทางรถไฟสายนี้ เคยมีมาแล้วสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลบุกไทย มีการเกณฑ์เชลยศึกก่อสร้างเส้นทางรถไฟ 2 เส้น คือเส้นทางรถไฟที่ จ.กาญจนบุรี ที่เชื่อมไปถึงประเทศเมียนมา

อีกเส้นทางหนึ่งคือเส้นทางไป จ.ระนอง เพื่อไปยังท่าเรือเข้าประเทศเมียนมา ครั้งนั้นญี่ปุ่นใช้เวลาสร้างเสร็จภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี โดยก่อสร้างไปถึงยังบริเวณปากคลองละอุ่น จ.ระนอง จากคลองละอุ่นนี้มีเส้นทางเรือต่อไปยังคลองกะ ซึ่งเป็นชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาและออกสู่ทะเลฝั่งอันดามัน เส้นทางนี้กองทัพญี่ปุ่นใช้ลำเลียงกำลังพลได้ไม่นานนัก ก่อนถูกกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดจนเสียหายไป จากนั้นเส้นทางรถไฟสายนี้ก็ถูกลืมเลือนไป

Advertisement

ลองไปฟังเสียงจากภาคเอกชนในพื้นที่ว่าการพลิกฟื้นเส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้นมาใหม่ จะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว ได้มากน้อยแค่ไหน

“ธีระพล ชลิศราพงศ์” ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ให้ความเห็นว่า ภาคเอกชนมีแนวคิดเรื่องนี้ไว้นานแล้ว ในการเชื่อมต่อรถไฟจากชุมพรมาระนอง ต่อมาผู้ว่าฯระนองนำเสนอในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ภูเก็ต ถ้าเกิดขึ้นได้จริง ทุกอย่างในระนองจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งเทคโนโลยี การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า ยิ่งหากมีการเชื่อมต่อจากแหลมฉบังมาโดยตรง หากท่าเรือพร้อม ร่องน้ำพร้อม ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด

Advertisement

“ผมเคยพูดกับทูตสหรัฐ ที่มาเยือนระนองว่าเห็นด้วยกับโครงการนี้ ดีกว่าการขุดคอคอดกระหรือคลองไทย เพราะทางด้านพื้นฐานก็จะดีกว่า คุ้มค่ากว่า ได้ทั้งการท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ตามสถานีรถไฟต่างๆ จะได้รับผลดีทั้งหมด” ประธานหอการค้าจังหวัดระนองหนุนเต็มที่

ด้าน “ธัญวิทย์ ธรรมสุนทร” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง เสริมว่า ผมสนับสนุนเรื่องแลนด์บริดจ์อยู่แล้ว ควรจะส่งเสริมให้เป็นระบบรางที่เชื่อมต่อจากอีอีซี-ชุมพร-ระนองโดยตรง อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าหากพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร แล้วยกสินค้าขึ้นที่ท่าเรือชุมพร แล้ววิ่งมาระนอง และต้องมายกลงเรือที่ท่าเรือระนองอีกครั้งนั้น จะคุ้มกับค่าใช้จ่ายหรือไม่กับการที่สามารถเซฟระยะเวลาไปได้ 2 วัน ผมอยากให้มีการวิ่งทางรางจาก อีอีซีตรงมาถึงระนองเลยจะดีกว่า

กรรณิการ์ เอี้ยวตระกูลฎ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง ก็เชียร์เช่นกันว่าการท่องเที่ยวจะเข้าไปมีส่วนในทุกๆ เรื่อง หากเราพูดถึงเรื่องการเชื่อมโยงการขนส่ง ก็จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นด้วย จะทำช่วยสร้างมูลค่าการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้มาก เพราะสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีให้หลายๆ เรื่องตามมาด้วย

ลองฟังเสียงจากชุมพรดูบ้าง “ไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที” ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร บอกว่า เห็นด้วยกับโครงการเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมชุมพร-ระนอง แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยก็คือ ท่าเรือน้ำลึกชุมพรที่เคยมีการศึกษาความเป็นไปได้มาแล้วว่ามีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างที่แหลมคอกวาง ต.นาทุ่ง อ.เมือง จ.ชุมพร

จากซ้าย ธีระพล ชลิศราพงศ์, ธัญวิทย์ ธรรมสุนทร, กรรณิการ์ เอี้ยวตระกูลฎ และไพบูลย์ ลิ้มเลิศวาที

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) จัดประชุมเรื่องท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร โดยมีการเสนอว่าหากจะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่แหลมคอกวาง ควรสร้างด้านทิศใต้ของแหลมซึ่งมีความลึกประมาณ 12 เมตร ไม่ควรสร้างด้านหน้าแหลมที่มีความลึกแค่ 5 เมตร เท่านั้น

อีกทั้งทราบว่าขณะนี้มีการมอบหมายให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชื่อดังทำการศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้ โดยใช้งบกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีการวางแผนแก้ไขไว้แล้ว

“ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดชุมพรพร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้กับรัฐบาลเต็มที่ เพราะถ้าสามารถสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกชุมพรควบคู่กับการสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ชุมพร-ระนองได้ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของภาคใต้ โดยเฉพาะชุมพรกับระนองแน่นอน” ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพรเชียร์สุดตัว

ด้าน “ชยศ สุวรรณพหู” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร เสริมว่า เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ปัจจุบันชุมพรกับระนองอยู่ในกลุ่มการค้าจังหวัดภาคใต้ตอนบนอยู่แล้ว หากมีทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนอง จะทำให้การคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างสองจังหวัดมีความสะดวกมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงกันระหว่างรถยนต์ รถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน

“รวมทั้งยังสอดรับกับโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมสองฝั่งทะเลด้วย ต่อไปการเดินทางระหว่างชุมพร-ระนอง จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ส่วนเรื่องผลกระทบคงต้องมีบ้าง ทราบว่าเคยมีการศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเอาไว้แล้ว หากมีการคมนาคมระบบรางเข้ามาเสริมระหว่างสองจังหวัด ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างแน่นอน” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพรก็หนุนเต็มที่

ชยศ สุวรรณพหู และอนัน รามพันธุ์

ขณะที่ “อนัน รามพันธุ์” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร ระบุว่า เส้นทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนองถือเป็นความหวังของคนทั้งสองจังหวัด เพราะจะเป็นการเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสองฝั่งทะเลเข้าด้วยกัน ทำให้การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของทั้งสองจังหวัดมีความสะดวกมากขึ้น

“สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเคยสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างชุมพร-ระนองมาแล้ว หากสามารถรื้อฟื้นทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนองขึ้นมาได้ก็จะเป็นผลดีต่อลูกหลานของเราในอนาคต รวมทั้งยังสามารถจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้ด้วย การสร้างทางรถไฟเชื่อมชุมพร-ระนองในบางจุด อาจต้องขุดอุโมงค์ให้รถไฟลอด เพราะต้องผ่านเขาจะกลายเป็นอันซีนของทั้งสองจังหวัดได้อีกด้วย” อนันส่งเสียงเชียร์อีกคน

ภาคเอกชนทั้ง 2 จังหวัดต่างสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่ รอแค่ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มลงมือกันอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรมเมื่อไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image