กมธ.ศิลปะและวัฒนธรรม ลงพื้นที่หารือโรงงานกระดาษกาญจนบุรี

กมธ.ศิลปะและวัฒนธรรม ลงพื้นที่หารือโรงงานกระดาษกาญจนบุรีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาโรงงานกระดาษ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งภูมิบ้านภูมิเมือง

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ห้องประชุมแควใหญ่ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาโรงงานกระดาษกาญจนบุรี พร้อมคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภาและคณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยมี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นของโรงงานกระดาษกาญจนบุรี พร้อมทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วม

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและแนวทางร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม กำหนดแนวทางรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่โรงงานกระดาษเก่าแบบไตรภาคี มีส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอ เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งภูมิบ้านภูมิเมืองกาญจน์บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

โดยกิจกรรมภายในงาน ได้มีการปาฐกถาพิเศษ จากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี เรื่อง กาญจนบุรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และการอภิปราย เรื่อง แนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาโรงงานกระดาษให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ประวัติศาสตร์ของจังหวัดกาญจนบุรี จาก นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายวิกรม กรมดิษฐ์ มิสเตอร์ แฮโรล ลิ้งก์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสรรเพชญ ศลิษฎ์อรรถกร และรองศาสตราจารย์สุกรี เจริญสุข อนุกรรมาธิการ เป็นผู้ดำเนินรายการ จากนั้นได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาตอบข้อสักถาม และสรุปการประชุมปิดการสัมมนาผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกำแพงเมือง บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กจ.194 ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีเนื้อที่ จำนวน 69-2-34 ไร่ เป็นโรงงานกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ใช้ผลิตกระดาษและธนบัตรในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษ เป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ต่อมาประสบภาวะขาดทุน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกกิจการ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2525 จากนั้นจึงได้ให้บริษัทเอกชนเช่าประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตกระดาษจนครบสัญญาเช่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนรวมถึงจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ยื่นข้อเสนอให้ทบทวนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ โดยเสนอให้พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตโบราณสถานเมืองเก่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของ จ.กาญจนบุรี พร้อมกับขอรับการสนับสุนนให้กรมธนารักษ์อนุญาตให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะและแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัด “ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์” รวมทั้งเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด โดยผ่านการบริหารจัดการของคณะกรรมการร่วม 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน

สำหรับ โรงงานกระดาษดังกล่าว ถือเป็นตำนานปล่องไฟสัญลักษณ์ของคนเมืองกาญจน์ ในยุคก่อน การเดินทางจากกรุงเทพฯไปจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อมองเห็นปล่องไฟของโรงงานกระดาษตั้งสูงตระหง่านใจกลางเมือง จะเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าเดินทางมาถึงเมืองกาญจน์แล้ว โรงงานกระดาษแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยช่างชาวเยอรมัน จึงมีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง รองรับเครื่องจักรในยุคก่อน ได้มีพิธีเปิดโรงงานกระดาษทหารอย่างเป็นทางการ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีมาเป็นคนเปิดงาน วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2481 เป็นทั้งโรงงานกระดาษแห่งแรกของไทย และยังเคยผลิตธนบัตรให้กับแบงก์ชาติบางช่วง จากนั้นส่วนราชการได้จำหน่ายตัวอาคารให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปี 2530

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image