อาหารทะเลราคาร่วงแรง ผู้ค้าเผยขายได้น้อยลง ขณะ ปชช.เชื่อรัฐเอาอยู่

อาหารทะเลราคาร่วงแรง ผู้ค้าเผยขายได้น้อยลง ขณะประชาชนยังมั่นใจรัฐบาลคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า ด้าน สสจ. พร้อม ที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข ลงพื้นที่ตลาดสด แนะนำในเรื่องความสะอาด แจกจ่ายหน้ากากอนามัย สร้างขวัญกำลังใจเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ ปชช. พื้นที่

วันที่ 25 ธ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เมื่อ 07.00 น. นายวัชระ ปิ่นเจริญ ที่ปรึกษารมช.กระทรวงสาธารณสุข (นายสาทิต ปิตุเตชะ) พร้อมด้วย น.พ.มณเฑียร คณาสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมคณะได้ลงเดินตรวจเยี่ยมและให้คำแนะนำต่อผู้ทำการค้าขาย ภายในตลาดสดบ่อบัว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเองให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้แก่พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่เข้ามาเดินจับจ่ายในตลาด โดยขอให้ผู้ดูแลตลาดสด พ่อค้า แม่ค้า และผู้มาใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกคนก่อนเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า และจัดจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การทำความสะอาดภาชนะ และการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเอง

ขณะที่ นายสุนทร แสงจันทร์ อายุ 59 ปี พ่อค้าอาหารทะเลสด กุ้งและปลาหมึก กล่าวว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมาหลังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวนหลายราย ได้ทำให้ตลาดสดบ่อบัวแห่งนี้เงียบเหงาลงไปในทันที แต่มาในวันนี้ได้เริ่มกลับมามีผู้คนออกมาเดินจับจ่ายซื้อสินค้าเกือบเป็นปกติแล้ว โดยที่คนหายไปจากปกติไม่มากนัก

Advertisement

สำหรับเรื่องแบบนี้อยู่ที่ความเข้าใจของคน โดยตนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคดี จึงไม่ได้กลัวอะไรมากนัก โดยกุ้งที่นำมาวางจำหน่ายนี้ ได้ไปรับมาจากบ่อเลี้ยงแถบย่าน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ส่วนปลาหมึกรับมาจาก ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ไม่ได้ไปรับมาจาก ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จึงไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในพื้นที่พบการระบาดของโรค

แต่หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 2 นี้ ได้ทำให้ราคาอาหารทะเลสดตกต่ำลงมามาก จากเดิมกุ้งขาวไซด์ขนาด 35 ตัวต่อ กก. ราคาขายปลีกจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท ลดลงมาเหลือ 220 บาท ขนาด 60 ตัว/กก. เดิมราคาจะอยู่ที่ 220 บาท ขณะนี้ราคาลดลงมาเหลือ 160 บาท และขนาด 80 ตัว/กก. ราคาลงมาอยู่ 120 บาท ซึ่งมีราคาตกต่ำลงมาถึงเกือบครึ่งหนึ่งจากปกติ

Advertisement

สำหรับร้านของตนปกติจะขายกุ้งได้วันละประมาณกว่า 1 ตัน เริ่มจากเวลา 01.00 น.-08.30 น. ของทุกวัน โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหาร และมีประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อบ้าง แต่พอเกิดการระบาดของโรค ทำให้ร้านอาหารหยุดนิ่งไปในทันที หรือบางร้านยังมีเข้ามาซื้อบ้าง แต่ซื้อในปริมาณที่ลดลง ในส่วนตนเองไม่ได้ตกใจอะไรมากนัก เพราะยังเชื่อว่ารัฐบาลจะเอาอยู่ และจะต้องควบคุมโรคได้ในไม่ช้า

โดยการระบาดครั้งแรกก็ยังเอาอยู่ ทั้งที่เราก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับโรคนี้มากนัก ในครั้งนี้จึงเชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้าเช่นเดียวกัน นายสุนทร กล่าว

ด้าน น.ส.หทัยรัตน์ โทนอัตรา อายุ 27 ปี ผู้ที่กำลังเข้ามาซื้อกุ้งจากในตลาดไปบริโภค กล่าวว่า พอได้ทราบข่าวถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็เกิดความกลัวอยู่บ้าง แต่เชื่อว่ากุ้งที่นำมาขายในตลาดสดแห่งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกุ้งที่ตลาดแพกุ้งมหาชัย เพราะ จ.ฉะเชิงเทรา มีแหล่งผลิตกุ้งเป็นจำนวนมากอยู่ในพื้นที่

น.ส.หทัยรัตน์ กล่าวว่า แต่เราก็ต้องป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน ซึ่งการระบาดของโรคในครั้งนี้ก็ยังเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมโรคได้ แต่ก็ขอให้เร่งควบคุมให้ได้โดยเร็วไว เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงหลังจากการระบาดของโควิด 19 ในครั้งแรกผ่านไปกำลังจะดีขึ้นและไปได้ดี โดยตนมีอาชีพค้าขายและกำลังจะฟื้นตัวกลับคืนมา แต่ก็ต้องมาหยุดชะงักลงอีก จากการระบาดในรอบ 2 ครั้งนี้ จึงทำให้มีสภาพตกต่ำลงมาอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image