รองผว.ประจวบฯ เร่งหารือปัญหาน้ำนมดิบหลังโควิดกระทบการผลิต แต่ยังไร้ข้อสรุป

รองผว.ประจวบฯ เร่งหารือปัญหาน้ำนมดิบหลังโควิดกระทบการผลิต แต่ยังไร้ข้อสรุป ก่อนนัดประชุมซ้ำ 11 ม.ค.นี้

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ ห้องประชุมช่องกระจก ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า หลังจากเมื่อวันที่ 8 มกราคม น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบให้สำนักงานองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคใต้ และอ.ส.ค.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อระบายน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมใน จ.ประจวบฯ และเพชรบุรี ที่ล้นระบบรวม 40 ตันต่อวัน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นนม ยู.เอช.ที.แล้วขายคืนให้กับชุมนุมสหกรณ์ในราคาหน้าโรงงาน กล่องละ 7 บาท เพื่อนำไปบริหารจัดการจำหน่ายเอง โดย อ.ส.ค.สามารถรับน้ำนมดิบได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2564

สำหรับ การประชุมเป็นการหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมที่จะผลิตเป็นนมพาสเจอไรซ์ แต่ยังคงไม่สามารถจำหน่ายได้หลังวันที่ 15 มกราคมนี้ เนื่องมาจากคำสั่งปิดสถานศึกษาใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งทางผู้บริหารสถานศึกษาได้สะท้อนปัญหาในที่ประชุมเกี่ยวกับนมพาสเจอไรซ์ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมและมีระยะเวลาเก็บรักษาได้ไม่นาน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อและมอบให้โรงเรียนเพื่อแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนจะทำให้ยากต่อการบริหารจัดการในช่วงนี้ที่อยู่ในช่วงของการปิดโรงเรียน หากนัดผู้ปกครองมารับก็จะทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก

ขณะที่ผู้ปกครองเด็กนักเรียนบางรายอาจไม่สะดวกที่จะมารับก็จะทำให้เกิดปัญหานมเน่าเสียได้ ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องการนมกล่อง ยู.เอช.ที.ที่สามารถเก็บรักษาได้นาน แต่ทาง อ.ส.ค.ไม่สามารถที่จะรับน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนมเข้าสู่กระบวนการผลิตนม ยู.เอช.ที.ได้ทั้งหมดที่ประชุมใข้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงนัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาภาครัฐและเอกชนทุกแห่งใน จ.ประจวบฯ หารือแนวทางแก้ปัญหาอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2564 โดยจะสำรวจว่ามีโรงเรียนใดบ้างที่จะสามารถรับนมพาสเจอร์ไรซ์ซึ่งจัดซื้อโดยงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปบริหารจัดการแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนได้ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image