ม้าแข่งโคราชกระอัก เจอโควิดปิดยาวเกือบ 1 ปี เสียหายกว่า 600 ล้าน ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ

ม้าแข่งโคราช กระอักโควิดปิดยาวร่วม 1 ปี กระทบเป็นลูกโซ่เสียหายกว่า 600 ล้านบาท วอน ศบค.พิจารณาคลายล็อกพร้อมจัดแข่งแบบวิถีใหม่

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 มกราคม ที่ชมรมม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา นายพุฒิพัฒน์ พงษ์ไชยกุล ประธานชมรมเจ้าของม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายสุพจน์ ชอบทองหลาง ประธานชมรมผู้ฝึกซ้อมม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา, นายเกรียงไกร ใช้ฮั้วเจริญ ประธานชมรมผู้ขี่ม้าจังหวัดนครราชสีมา, นายฆนาราม ศรีคัทธะนาม ประธานชมรมผู้ฝึกซ้อมม้าแข่งกรุงเทพมหานคร และนางเบญจมาศ ธานี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลหนองไผ่ล้อม ร่วมประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกให้แก่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพในวงการม้าแข่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้ง 2 ระลอก

นายพุฒิพัฒน์กล่าวว่า สนามม้าโคราชถูกปิดตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ.63 ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 11 เดือน ทุกอาชีพในวงการม้าแข่งได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งเจ้าของคอกม้า คนเลี้ยงม้า และบุคคลในวงการกีฬาม้าแข่งประมาณ 4 หมื่นคน ที่ได้รับผลกระทบ มีเงินหมุนเวียนที่สูญเสียไปกว่า 600 ล้านบาท ที่ผ่านมาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลมา 1 ตัวอยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อเดือน เป็นภาระหนักที่ทางเจ้าของคอกม้าแบกรับเอาไว้

นายพุฒิพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีคอกม้าที่ขึ้นทะเบียนกับทางชมรมเจ้าของม้าแข่งจังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมด 70 คอก มีม้าแข่งทั้งหมดจำนวน 700 ตัว ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย ที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องในวงการม้าแข่งโคราชได้ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวและนำข้อมูลไปเสนอในที่ประชุมต่อไป เพื่อให้การแข่งขันม้าแข่งกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง เป็นการส่งเสริมฟื้นฟู และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพในวงการกีฬาม้าแข่ง คาดว่าถ้าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น การแข่งขันม้าแข่งจะสามารถกลับมาจัดการแข่งขันได้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ขอให้เมตตาพิจารณาเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพในวงการม้า เฉกเช่นกลุ่มอาชีพอื่นๆ ด้วย เราพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.กำหนดทุกประการ

Advertisement

ด้านนางเบญจมาศเปิดเผยว่า สนามม้าถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของคนในพื้นที่ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุให้มีรายได้จากการค้าขายสินค้า อาหาร ทุกสัปดาห์ที่มีการจัดแข่งม้า ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ส่งผลให้กลุ่มอาชีพเหล่านี้ว่างงานโดยไม่มีกำหนด หากไม่เพียงพอจะกลายเป็นภาระให้ของลูกหลานที่ต้องหาเลี้ยงจุนเจือกันไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรือภาครัฐมีความเมตตาอนุญาตให้จัดแข่งม้า เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจในชุมชนกลับคืนสู่ภาวะปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image