ทุนจีนจับมือทุนไทย แห่ตั้งล้งรับซื้อทุเรียนชุมพร เสนอกลไกป้องกันกดราคา

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายกิตติ กิตติชนม์ธวัช ประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า คาดว่าคงมีล้งที่มีชาวจีนเข้ามาร่วมทุนกับคนในพื้นที่ด้วยไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง หรืออาจมีมากถึง 200 แห่ง กระจายอยู่ทั้ง 8 อำเภอของ จ.ชุมพร ซึ่งล้งรับซื้อทุเรียนเหล่านี้เป็นลักษณะของการร่วมทุนระหว่างชาวจีนกับคนไทย โดยชาวจีนเป็นนายทุนใหญ่ มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วให้คนไทยในพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และจดทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรโดยตรงเพื่อขอใบรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก ในท้องถิ่นมักไม่ได้รับประโยชน์อะไรมากนัก นอกจากมีสถานที่ระบายผลผลิตและได้ภาษีโรงเรือนเท่านั้น

นายกิตติกล่าวว่า ล้งรับซื้อทุเรียนของพ่อค้าชาวจีนในระยะแรกจะแข่งกันรับซื้อผลผลิตจากชาวสวน เกษตรกรจึงขายผลผลิตได้ในราคาดี แต่หากพ่อค้าชาวจีนสามารถจับมือกันเป็นศูนย์ใหญ่เพื่อรับซื้อทุเรียนได้เมื่อใด การกดราคารับซื้อผลผลิตต้องเกิดขึ้นแน่ ตนเคยเสนอ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้รีบหาแนวทางป้องกันปัญหานี้ โดยต้องสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรในการรวมตัวกันให้ได้ เพื่อให้พวกเขามีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าชาวจีนเหล่านี้

“ที่ผ่านมา พ่อค้าชาวจีนจะรับซื้อทุเรียนจากตลาดกลางผลไม้ในพื้นที่ เมื่อพ่อค้าชาวจีนหันมาลงทุนร่วมกับชาวไทยในพื้นที่สร้างล้งรับซื้อทุเรียนส่งกลับไปจีนเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง เพราะไม่ต้องผ่านตลาดกลางรับซื้อผลไม้ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายห้ามเรื่องนี้ และขณะนี้เชื่อหรือไม่ว่า มีชาวจีนหลายคนที่เข้ามาประสานเรื่องนี้ในไทย สามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีชาวไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานเรื่องนี้ในประเทศจีน สามารถพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วสักกี่คน” นายกิตติกล่าว

Advertisement

201602041507344-20021028190522

ด้านนายเนิน ศึกขันเงิน นายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ล้งรับซื้อทุเรียนที่มีการก่อสร้างใน จ.ชุมพร ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกับที่ จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง เพราะใน จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง ทุเรียนจะออกสู่ท้องตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี เมื่อหมดฤดูทุเรียนที่ 2 จังหวัดนี้แล้ว ทุเรียนใน จ.ชุมพรจึงจะเริ่มออกสู่ท้องตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี พ่อค้ากลุ่มเดียวกันก็จะย้ายจาก จ.จันทบุรี และ จ.ระยอง มารับซื้อทุเรียนใน จ.ชุมพร เคยเสนอให้จังหวัดรีบวางกรอบเรื่องชาวต่างชาติเข้ามาก่อสร้างจุดรับซื้อผลผลิตในไทยให้ชัดเจน เพราะหากพ่อค้าชาวต่างชาติจับมือแล้วรวมตัวกันเป็นศูนย์ใหญ่เพื่อรับซื้อผลไม้จากเมืองไทย ผลกระทบย่อมเกิดกับเกษตรกรอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 140,000 ไร่ ได้ผลผลิตปีละประมาณ 130,000 ตัน เป็นผลผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 75% (66% ส่งไปประเทศจีน) ที่เหลืออีกประมาณ 25% จำหน่ายในประเทศและบริโภคภายในจังหวัด อำเภอที่ปลุกทุเรียนมากที่สุดคือ อ.ท่าแซะ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 30,000 ไร่ รองลงมาคือ อ.หลังสวน อ.เมืองชุมพร อ.พะโต๊ะ อ.ท่าแซะ มีรายได้จากการส่งออกทุเรียนเข้าจังหวัดปีละ 6,500 ล้านบาท คิดเป็น 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP: gross domestic product) ของจังหวัด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image