ฮือฮา!! แม่น้ำบางปะกงเรืองแสงเป็นสีเขียว (มีคลิป)

ฮือฮา!! แม่น้ำบางปะกงเรืองแสงเป็นสีเขียว

วันที่ 3 ก.พ. ที่ท่าเทียบเรือหน้าวัดแจ้ง บริเวณตลาดน้ำบางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ประชาชนได้ต่อคิวเพื่อซื้อตั๋วในราคาผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท ส่วนเด็กเล็กไม่เสียค่าตั๋ว

โดยเรือเที่ยวแรกจะล่องไปตามแม่น้ำในเวลา 19.30 น.และทุกคนต้องคัดกรองตามมาตรการป้องกันเฝ้าระวังโควิค-19 ก่อนขึ้นเรือนำเที่ยวสองชั้น ชื่อเรือ “แพพี่เก้า” ที่เปิดบริการนักท่องเที่ยวล่องไปตามรอบเกาะลัดบางคล้าซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการล่องเรือชมทัศนียภาพสองแม่น้ำในยามค่ำคืน

แต่เมื่อในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เป็นที่ฮือฮาของประชาชนทั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียงต่างตื่นตาตื่นใจ เมื่อได้ทราบข่าวถึงปรากฏการณ์แม่น้ำบางปะกงเรืองแสงได้ ซึ่งเกิดจากแพลงก์ตอนชนิดหนึ่งเรืองแสงที่ลอยมากับน้ำเค็มที่หนุนสูงเข้ามาในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะไม่พบบ่อยครั้ง จึงต่างได้เดินทางเพื่อมาชมให้เห็นกับตาตัวเอง

Advertisement

นางสาววรยา จ้อยเจริญ เจ้าของเรือชื่อ “แพพี่เก้า” กล่าวว่า แพลงก์ตอนมากับน้ำทะเล เพราะปีนี้แม่น้ำบางปะกง ไม่มีน้ำจืดที่จะหนุนน้ำทะเล ซึ่งน้ำเค็มได้ไหลเข้ามาเกือบถึงจังหวัดปราจีนบุรี แต่ความเค็มจัดอยู่ที่อำเภอบางคล้า เมื่อขึ้นไปถึงทางตำบลหัวไทร ตำบลบางกระเจ็ด อำเภอบางคล้า เกือบถึงจังหวัดปราจีนบุรี จะมีน้ำจืดปน จะไม่สามารถเห็นแพลงก์ตอนเรืองแสงได้เท่ากับช่วงอำเภอบางคล้า

โดยส่วนใหญ่จะเห็นการเรืองแสงในช่วงเดือนมืดสนิท จะชัดเจนมากในช่วงดึก โดยจะเห็นได้ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนก็จะไม่มีแพลงก์ตอนเพราะจะมีน้ำจืดเข้ามาทดแทนน้ำเค็มก็จะไม่พบแพลงก์ตอนเรืองแสงอีก

สำหรับปรากฏการณ์แพลงก์ตอนเรืองแสง หรือ ปรากฏการณ์ Bioluminescence เป็นแพลงก์ตอนพืช หรือ ไฟโทแพลงก์ตอน คือแพลงก์ตอนที่สามารถสังเคราะห์แสงและสร้างอาหารเองได้ ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตปฐมภูมิของห่วงโซ่และสายใยอาหาร

Advertisement

พบได้ทั้งในระบบนิเวศน้ำจืด ระบบนิเวศน้ำเค็ม ตลอดจนในระบบนิเวศน้ำกร่อย แพลงก์ตอนพืชส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่าย โดยแพลงก์ตอนที่ทำให้เกิดเรืองแสงนี้จะเป็นแพลงก์ตอนพืชในกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต เมื่อแพลงก์ตอนได้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนใต้น้ำ และอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเมื่อถูกรบกวน หรือมีวัตถุกระทบกับเจ้าแพลงก์ตอน จะทำให้ผนังเซลล์เกิดการเรืองแสงเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image