กาชาดตากลงพื้นที่พบนร.อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพิ่ม เหตุใช้ภ.ถิ่นไม่ได้ฝึกภ.ไทย ขาดสื่อ ครูไม่เข้าใจการสอน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตาก พร้อมด้วยนางจรูญลักษณ์ โชติมานนท์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดตาก รองศึกษาธิการจังหวัดตาก รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผล สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตาก และคณะศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
ได้ลงพื้นที่เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อติดตามการดำเนินงานการพัฒนาทักษะการอ่าน – การเขียน ตามโครงการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ที่โรงเรียนบ้านพะเด๊ะ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงทวี มณีนุตร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผลการดำเนินงานพัฒนาทักษะการอ่าน- การเขียน เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ของนักเรียน มีดังนี้
1) โรงเรียนบ้านพะเด๊ะ (ห่างจากตัวเมืองตาก 91 กม.)
-ความแตกต่างระหว่างผู้เรียนแต่ละคน ด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม และร่างกาย คุณครูจึงใช้วิธีการสอนภาษาที่มีความหลากหลาย ด้วยการคิดค้นเทคนิควิธีการใหม่เพื่อให้นักเรียนมีความสนใจ และ เห็นความสำคัญของการอ่านออก-การเขียน
-คุณครูระดับประถมศึกษา (ป.1-ป.3) ที่จัดการเรียนรู้ภาษาไทย เน้นการสอนอ่านให้เกิดทักษะการอ่านพื้นฐาน
-คุณครูบางคนไม่เข้าใจหลักการสอนอ่านและเขียน รวมถึง หลักการสอนประสมเสียง และการเรียนการสอนการอ่านตามศักยภาพของนักเรียน
-คุณครูมีความเอาใจใส่ พัฒนาทักษะการอ่านการเขียนของนักเรียน โดยใช้นวัตกรรมการฝึกทักษะ การอ่าน -การเขียน จำนวน 20 สัปดาห์ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากเขต 2 จัดทำขึ้น
-นักเรียนเริ่มมีทักษะในการสะกดคำ และการรวมพยัญชนะ ได้ดีขึ้น

2) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงทวี มณีนุตร ( ห่างจากเมืองตาก 78 กม.)
– คุณครู ตรวจสอบคุณภาพการอ่าน การเขียนของนักเรียน พบว่า นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องจากนักเรียนใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร เมื่อกลับไปบ้านพ่อแม่ผู้ปกครองก็พูดภาษาถิ่น ทำให้นักเรียนไม่ได้ฝึกการใช้ภาษาไทย
-คุณครูยังไม่ได้วางแผนการแก้ปัญหาการพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียน
-ขาดสื่อและอุปกรณ์การสอนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้
-คุณครูขาดความเข้าใจหลักการสอนภาษาไทย การประสมเสียง

ปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอ่านการเขียน มีดังนี้
1.ผู้บริหารโรงเรียนให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออก -เขียนไม่ได้
2.ในช่วงมีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คุณครูจัดทำแบบฝึกเพื่อให้นักเรียนนำกลับไปทำที่บ้าน
3.คุณครูควรหลีกเลี่ยงการสอนตามหนังสือ แต่ควรใช้เทคนิคการสอนที่กระตุ้นความสนใจของนักเรียน
4. คุณครูควรสอนโดยใช้หลักการสอนภาษา เพื่อให้แนวทางการอ่านออกเสียงและการฝึกเขียน

ข้อเสนอแนะ
1.ควรมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น ใช้บัตรคำ สอนประสมคำ การเล่าเรื่องเป็นต้น
2.กระตุ้นให้นักเรียนใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ตามวันที่กำหนด
3.ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรมอบหมายใบงานหรือลงพื้นที่ไปยังบ้านนักเรียนเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
4.สอนซ่อมเสริมในแต่ละวัน

Advertisement

ทั้งนี้นายกเหล่ากาชาดได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยการใช้สื่อที่หลากหลายกระตุ้นความสนใจให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ พร้อมกับให้กำลังใจคุณครู เพื่อช่วยเหลือนักเรียนให้อ่านออกเขียนได้
ในขณะเดียวกันได้มอบหน้ากากอนามัยเจลแอกอฮอล์ด้วย

Advertisement

ต่อมาเหล่ากาชาดจังหวัดตาก
นำโดยนางศลิษา ติดตามการพัฒนาการอ่าน – การเขียน ตามโครงการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จาตุรจินดา,โรงเรียนท่านผู้หญิงพรสม กุณฑลจินดา และโรงเรียนบ้านห้วยสลุง อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

การดำเนินงานพัฒนาการอ่าน- การเขียน ของโรงเรียน ทั้ง 3 แห่ง มีดังนี้

1) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จาตุรจินดา เป็นโรงเรียนในสังกัด อบต.พระธาตุ
-ครูขาดความเอาใจใส่เด็กให้อ่านออกเขียนได้เป็นรายบุคคลส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถอ่านและสะกดคำได้
-ครูใช้เวลาในการสอนเสริม วันละ 1 ชม. ช่วงเวลา 14.30-15.30 น.
-การสอนเสริมไม่แยกกลุ่มนักเรียน

2) โรงเรียนท่านผู้หญิงพรสม กุณฑลจินดา
-จัดชั่วโมงสอนซ่อมเสริมให้กับนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เวลา 14.30 น. -15.30 น.และช่วงที่ 2 สำหรับนักเรียนที่พักนอนที่โรงเรียน เวลา 19.30 น. -20.30 น.
– ครูขาดเทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนสนุกกับการเรียน
– จำนวนครูที่รับผิดชอบสอนเสริมมีไม่เพียงพอ

3) โรงเรียนบ้านห้วยสลุง
– มีครูอัตราจ้างตามความร่วมมือกับ มรภ.กำแพงเพชร รับผิดชอบการสอนเสริม
– จัดการสอนเสริมวันละ 1 ชม. ช่วงเวลา 15.30 -16.30 น. และจะใช้เวลาสอนเพิ่มในช่วงปิดเทอม
-ครูใหญ่เอาใจใส่วิธีการสอนเสริมของครู
– ครูใช้ชุดฝึกการสอนเสริม 20 สัปดาห์ ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดส่งให้

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการสอนเสริมของโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ได้แก่
1. การสื่อสารด้วยภาษาถิ่นระหว่างนักเรียนด้วยกัน
2.ครูใช้ภาษาถิ่นกับนักเรียน
3. การใช้เทคนิคการสอนที่กระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน

ข้อเสนอแนะ
1. ผู้บริหารควรทำความเข้าใจกับครูในการสอนเสริม
2. ใช้ชุดฝึกบันได 5 ขั้น ในการสอนเสริม
3. กำหนดช่วงเวลาในการสอนให้เหมาะสม สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนพักนอน
4. ใช้เทคนิควิธีการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนสนุกและอยากเรียน
5. รายงานผลการพัฒนานักเรียน ด้วยการสอนเสริมตามสภาพจริง
พร้อมกันนี้ นายกเหล่ากาชาด ได้ขอบคุณและให้กำลังใจครู ทุกคน ที่จะต้องเสียสละและอดทน เพื่อช่วยสอนเสริมให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image