นักวิจัยชี้ ‘น้ำโขงสีคราม’ เกิดจากการตกตะกอน สัญญาณหายนะ ระบบนิเวศพังระยะยาว

DCIM100MEDIADJI_0007.JPG

นักวิจัยชี้ ‘น้ำโขงสีคราม’ เกิดจากการตกตะกอน ผลกระทบขั้นวิกฤต สัญญาณหายนะ ระบบนิเวศพังระยะยาว

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง อาจารย์ประจำคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำโขง มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน เกษตรกร ลุ่มน้ำโขง เป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วง 4 -5 ปี ที่ผ่านมา จากการสำรวจเก็บข้อมูล พบว่าน้ำโขงมีความผันผวน และมีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และมีระดับน้ำโขงผันผวนผิดฤดูกาล

ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยสำคัญในการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติของน้ำโขง ยิ่งในช่วง 2 -3 ปี ที่ผ่านมา ในช่วงฤดูฝน น้ำโขงจะมีปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ช่วงฤดูแล้ง จะมีปริมาณน้ำน้อย เฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 1-2 เมตร ที่สำคัญยังมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของสี กลายเป็นสีฟ้าครามคล้ายทะเล หลายคนมองแล้วอาจตื่นตา สวยงาม แต่ในทางวิชาการ จากการลงพื้นที่สำรวจวิจัย พบว่า น้ำโขงที่เกิดสีฟ้าคราม มาจากต้นเหตุของการตกตะกอนของหินปูน เพราะเขื่อนกั้นน้ำโขงมีการกักน้ำ กระแสน้ำไม่ไหลเชี่ยว ไม่มีการไหลเวียนตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมี ค่า PH ความเป็นกรด เป็นด่าง ผิดธรรมชาติ ปกติค่ามาตรฐานของน้ำจะมีความเป็นกรดเป็นด่างที่ คือค่า PH มาตรฐาน ประมาณ 7 หากค่า PH ต่ำกว่า 7 ถือว่าเป็นกรด แต่ค่า PH มากกกว่า 7 ถือว่าเป็นด่าง ซึ่งปัจจุบันจากการสุ่มวิจัยสำรวจพบว่า บางจุดน้ำโขง มีค่าความเป็นด่างสูงประมาณ 9.5 -10 ทำให้เกิดการตกตะกอน เปลี่ยนสี สิ่งที่ตามมาคือ สิ่งมีชีวิตในน้ำ แพลงก์ตอนในน้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติตายลง ระบบนิเวศพัง การขยายพันธุ์ปลาน้อยลง รวมถึงอาหารสัตว์น้ำในน้ำโขงขาดแคลน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญ เมื่อน้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลงด้วยระบบการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดความผันผวน ระดับน้ำต่ำกว่าธรรมชาติ ไม่หนุนลำน้ำสาขา ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขยายพันธุ์ปลาในช่วงฤดูฝน ทำให้ปลาสามารถขยายพันธุ์ได้ เฉพาะในลำน้ำโขง แต่นับวันความอุดมสมบูรณ์นับวันลดลง

สิ่งที่ตามมาคือ วิถีชีวิต การเกษตร การประมง ของชาวบ้านริมฝั่งโขงจะมีการเปลี่ยนแปลง อาชีพหลักเศรษฐกิจด้านการประมงจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด หาปลาได้น้อยลง ทางรอดสำคัญ อยากสะท้อนไปยังรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำสาขา เนื่องจากปัจจุบัน น้ำโขงจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม หากมีการก่อสร้างระบบกักน้ำ บริหารจัดการน้ำที่ดี เชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเมื่อน้ำโขงมีปริมาณลดลง จะสามารถใช้ระบบกักเก็บน้ำเป็นตัวเติมให้น้ำโขง เพิ่มปริมาณอยู่ในจุดที่เหมาะสม เมื่อช่วงฤดูฝนจะต้องเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาให้เพียงพอ และระบายลงน้ำโขง ในส่วนที่ไม่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ หากบริหารจัดการได้ เป็นทางออกทางเดียวที่จะแก้ไขได้ในระยะยาว เพราะหากปล่อยไว้เชื่อว่าสิ่งที่ตามมาคือ ความหายนะ ระบบนิเวศพัง วิถีชีวิตชาวประมงลุ่มน้ำโขงอาจสูญหายไป

Advertisement

ซึ่งทางคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม จะมีการลงพื้นที่สำรวจทำวิจัย เสนอแนวทางแก้ไข ไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อเนื่อง เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image