เร่งรักษา 7 ช้างป่วย กินยาฆ่าหญ้าพาราควอต ชี้ทั้งหมดอาการน่าเป็นห่วง

เร่งรักษา 7 ช้างป่วย กินยาฆ่าหญ้าพาราควอต ชี้ทั้งหมดอาการน่าเป็นห่วง เผย 3 เชือกอาการหนักสุด มาถึง รพ.ช้างลำปาง แล้ว

วันที่ 5 มีนาคม 2564 ทีมคณะสัตวแพทย์ได้เคลื่อนย้ายช้างป่วย จำนวน 3 เชือก มาจากพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพื่อมารักษาอย่างเร่งด่วน ที่โรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง แล้ววันนี้

เมื่อมาถึงทางทีมคณะสัตวแพยทย์ของโรงพยาบาลช้าง นำโดย นายสัตว์แพทย์ ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ต่างเริ่มให้การรักษาทันที เนื่องจากช้างอาการน่าห่วง เพราะไปกินยาฆ่าหญ้า ชนิดพาราควอต ที่เกษตรกรเก็บไว้ในเพิงกลางป่า และช้างเอาออกมากิน จนกระทบต่อร่างกายช้าง จำนวน 7 เชือก เป็นช้างบ้าน 5 เชือก และช้างป่า 2 ตัว

โดยช้างที่มีอาการหนักสุด 3 เชือก ที่เป็นช้างบ้าน ได้ถูกเคลื่อนย้ายมายัง จ.ลำปาง ก่อน คือ ช้างพังโม่พอนะ เพศเมีย อายุ 7 ปี และช้างสองแม่ลูก ชื่อ พังคำมูล เพศเมีย อายุ 10 ปี และลูกช้าง พลายวิลลี่ เพศผู้ อายุ 1 ขวบ

โดยช้างพังโม่พอนะ อาการหนักสุด ปาก และลิ้น เป็นแผลพลุผอง คาดว่าจะกินยาฆ่าหญ้าเข้าไปมาก รองลงมาที่อาการน่าห่วง คือ ลูกช้าง พลายวิลลี่ ที่เริ่มมีอาการซึม และปากเริ่มเป็นแผลพลุพองเช่นกัน

Advertisement

ทางทีมคณะสัตวแพทย์ของโรงพยาบาลช้าง ได้รีบให้การรักษา ด้วยการให้สารน้ำสำคัญเข้าที่หลังใบหูของช้าง เพื่อให้ช้างมีร่างกายที่แข็งแรง เนื่องจากกินอาหารได้น้อยลง รวมถึงให้ยาแก้อักเสบ และยาละลายพิษยาฆ่าหญ้าที่กินเข้าไป เพื่อป้องกันพิษภายในร่างกาย ที่จะไปเป็นอันตรายต่อตับ หัวใจ และไต ที่อาจจะทำให้อาการทรุดหนักลงได้

นายสัตวแพทย์ ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ เปิดเผยว่า อาการทุกเชือกน่าห่วง ถือว่ายังไม่พ้นขีดอันตราย จึงต้องรีบรักษา โดยเฉพาะการให้สารละลายพิษยาฆ่าหญ้า ที่ถือว่าเป็นชนิดที่รุนแรง ที่อาจจะไหลเข้าสู่ปอดของช้าง และทำให้หายใจลำบาก และจะเป็นสาเหตุทำให้ช้างสิ้นลม และตายลง

Advertisement

“ทางทีมคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และของโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ที่ไปร่วมติดตามอาการ และรักษา ประเมิณว่า จะต้องเคลื่อนย้ายมารักษาทั้งหมด โดยเริ่มจาก 3 เชือกที่มีอาการมากสุดก่อน”

ส่วนที่เหลืออีก 4 นั้น เป็นช้างสองแม่ลูก และช้างป่าที่ออกมาหา และกินยาฆ่าหญ้าเข้าไปเช่นกัน ก็ต้องเคลื่อนย้ายมา แต่ติดที่ช้างป่า ที่อาจจะเกิดอันตรายระหว่างเคลื่อนย้าย เพราะไม่คุ้นเคยกับคน หรือการเคลื่อนย้าย จึงไม่สามารถนำออกมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางทีมสัตวแพทย์ จะมีการหารือกัน เพื่อรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image