“กรมอุทยานฯ” จ่อเพิกถอนใบอนุญาตฟาร์มมุกดา สวมรอยลูกเสือ 6 ตัว ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด

“กรมอุทยานฯ” จ่อเพิกถอนใบอนุญาต-เอาผิดมุกดาสวนเสือฯ จ.มุกดาหาร หลังพบลูกเสือสวมรอยรวม 6 ตัว ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับพ่อ-แม่พันธุ์ในฟาร์ม หวั่นมีการลักลอบนำเสือจากป่าออกมาค้าผ่านสวนสัตว์

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์รองอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมด้วยนายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกันแถลงถึงกรณีคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย (GEF. 6) ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยพญาเสือ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้า ตรวจสอบสวนสัตว์มุกดา ของนายสมดิษฐ์ ธรรมเวช ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ต. บางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มายังกรมอุทยานฯ

 

Advertisement

 

นางรุ่งนภา กล่าวว่า จากการข่าวพบว่าสวนสัตว์ดังกล่าวมีพฤติกรรมในการลักลอบค้าเสือโคร่ง โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินคดีกับสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม และได้ตรวจยึดเสือโคร่ง จำนวน 3 ตัว นอกจากนี้ยังได้ทำการอายัดสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเสือโคร่งไว้ตรวจสอบจำนวน 3 รายการ เพื่อตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA) หาความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่ลูก ตามที่สวนสัตว์ได้แจ้งเกิดไว้ จากการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มีผลรายงานเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมาและศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ รายงานเมื่อวันที่ 2 ก.พ. พบว่า 1.เสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “ข้าวเม่า” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “ข้าวเปลือก” ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “โดโด้” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “มะเฟือง” 2.ซากเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “ข้าวเหนียว” ไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “โดโด้” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “มะเฟือง” อีกทั้งไม่มีความสัมพันธ์เป็นลูกของเสือโคร่งเพศผู้ ชื่อ “ให้ลาภ” และเสือโคร่งเพศเมีย ชื่อ “ให้ทอง”

นางรุ่งนภา กล่าวต่อว่า ดังนั้นกรามอุทยานฯ จึงมีข้อกล่าวหาต่อสวนเสือดังกล่าว คือ 1. ความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 17 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จ ลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นี้นำมาซึ่งการปฏิบัติการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเข้าไปดำเนินการตรวจสอบกิจการสวนสัตว์ มุกดาสวนเสือและฟาร์มของนายสมดิษฐ์ อีกครั้ง เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ จะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายสมดิษฐ์ ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ต่อไป

ด้านนายสมปอง กล่าวว่า กรมอุทยานฯ จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตวของสวนสัตว์ดังกล่าว ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ซึ่งให้อำนาจหน้าที่กรมในการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ได้ ในกรณีที่ 1.ผู้ประกอบการถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงในการครอบครองสัตว์ป่า หรือในกรณีที่กรมอุทยานฯ มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ 2 ครั้ง ติดต่อกัน ภายใน 1 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ทางกรมอุทยานฯ ได้ประกาศพักใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์เป็นเวลา 30 วันซึ่งครบกำหนดแล้ว เนื่องจากเสือโคร่ง 3 ตัว และซากเสือโคร่งอีก 1 คือ ลูกเสือโคร่ง ชื่อ ข้าวเหนียว ข้าวยำ ข้าวเจ้า ข้าวกล่ำ ที่ตรวจยึดเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ไม่มีความสัมพันธ์กับพ่อแม่พันธุ์ที่สวนสัตว์กล่าวอ้าง จึงได้มีคำสั่งดังกล่าว และล่าสุดในวันนี้ก็พบความผิดในลักษณะเดียวกันของลูกเสือโคร่งอีก 2 ตัว ชื่อ เข้าเม่า และข้าวเปลือก ดังนั้นทางกรมอุทยานฯ จึงจะออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ระงับได้ไม่เกิน 90 วัน ขึ้นอยู่กับกรมกำหนดระยะเวลา เมื่อครบกำหนดแล้วทางกรมจะทำหนังสือแจ้งเพิกถอนการประกอบกิจการสวนสัตว์ตามมาตรา 78 พ.ร.บ.อุทยานฯ ต่อไป เป็นขั้นตอนต่อไป พร้อมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นายสมปอง กล่าวว่า ทั้งนี้สำหรับแหล่งที่มาของเสือที่มีปัญหาทั้งหมด จะต้องมีการสืบสวนต่อไปว่ามาจากที่ไหน ทั้งนี้มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งจากซื้อขายจากสวนสัตว์ด้วยกันเองหรือมาจากเสือจากป่าธรรมชาติ โดยเวลานี้มีสวนเสือที่เปิดกิจการภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ ทั้งหมด 49 แห่ง ขอเลิกกิจการ 4 แห่ง อีก 45 แห่งนั้น สำรวจแล้วมีเสือจริงอยู่ 32 แห่ง รวมมีเสือในสวนสัตว์เอกชน จำนวน 1,511 ตัว ซึ่งกรมอุทยานฯ จะตรวจสอบต่อไป

ด้านนายชัยวัฒน์ กล่าวระหว่างการลงพื้นที่สวนสัตว์มุกดาฯ ว่า ที่ผ่านมาทางเจ้าของสวนเสือระบุว่า เคยมีชาวเวียดนามที่ต้องสงสัยมีความเชื่อมโยงกับขบวนการลอบค้าสัตว์ป่า มาติดต่อขอซื้อเสือในสวนสัตว์ แต่ทางเจ้าของสวนเสือระบุว่าไม่ได้ตกลงซื้อขายกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะต้องดำเนินคดีและติตตามที่มาของเสือในสวนเสือดังกล่าวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image