‘สสส.’ ร่วม ‘ม.ศรีวิชัย’ จัดเสวนาสื่อดิจิทัลเปลี่ยนโลก ความท้าทายใหม่ลดนักสูบ

‘สสส.’ ร่วม ‘ม.ศรีวิชัย’ จัดเสวนาสื่อดิจิทัลเปลี่ยนโลก ความท้าทายใหม่ลดนักสูบ

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. โดย DigitorThailand ร่วมกับ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย จัดเวทีเสวนา หัวข้อ สื่อดิจิทัลเปลี่ยนโลก ความท้าทายใหม่ลดนักสูบ ภาคใต้ ในการปกป้องนักสูบหน้าใหม่ผ่านสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ด้วยกิจกรรม สร้างสรรค์สื่อติดแฮชแท็กนักศึกษายุคใหม่ไม่สูบไม่ส่งต่อบุหรี่

นายฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการนักสื่อสารดิจิทัลสร้างสรรค์สื่อปลอดบุหรี่ DigitorThailand กล่าวว่า ความท้าทายใหม่ที่ทาง DigitorThailand ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจสื่อดิจิทัลเทคโนโลยีได้มารวมพลังสร้างสรรค์ไอเดียสู่การสร้างสังคมปลอดบุหรี่ หวังที่จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านกระบวนการสร้างนักสื่อสารดิจิทัล เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีท่ามกลางวิกฤตใหม่ สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนที่เกิดขึ้น

นายวศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่าภาคใต้มีอัตราการบริโภคสูงที่สุดในประเทศไทย คือ 24.5% ซึ่งจากรายงานพฤติกรรมการใช้ยาสูบของสมาชิกในครัวเรือน ระหว่างสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กรณีศึกษา ห้าจังหวัดชายแดนใต้ ของสถาบันนโยบายสาธารณะ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย ศจย.ได้นำเสนอผลการศึกษาว่า จากการสำรวจในพื้นที่จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส จำนวน 850 ครัวเรือนในปีที่ผ่านมา เป็นครัวเรือนที่ไม่สูบจำนวน 562 หลัง คิดเป็น 66.12% และเป็นครัวเรือนที่สูบจำนวน 288 หลัง คิดเป็น 33.88%

นายวศินกล่าวว่า ส่วนผู้ที่ไม่สูบยาสูบเลยมีจำนวน 668 ราย 78.58% มีผู้สูบทุกวันจำนวน 111 คน คิดเป็น 13.06% และมีผู้ที่เลิกสูบได้จำนวน 71 คน คิดเป็น 8.35% โดยผู้ตอบแบบสำรวจ ได้ตอบว่า กรณีไม่ได้เป็นผู้สูบ แต่มีสมาชิกในบ้านหรือเพื่อนบ้านที่สูบ จะแนะนำให้เขาเลิกสูบ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรน่าถึง 82.71% และตอบว่า สมาชิกในครอบครัวจะเลิกสูบ ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา ถึง 70.35% ซึ่งอาจเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ภาคใต้คนให้ความสำคัญกับเรื่อง ยาสูบและสุขภาพมากขึ้น ปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัฒน์ ระบบโลจิสติกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ส่งผลให้ชุมชนและสังคมภาคใต้มีความเป็นเมืองมากขึ้น การใช้สื่อดิจิทอลจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสการขับเคลื่อนเพื่อการลด ละเลิกยาสูบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่สำคัญในระดับพื้นที่ภาคใต้ โดยความท้าทายของการควบคุมยาสูบในภาคใต้จะมีด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ยาเส้น 2.บุหรี่ผิดกฎหมาย และ 3.บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขายหรือบริการ แต่ก็ยังอาจพบเจอการสูบได้ เนื่องมาจากมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการนำเสนอ และการบังคับใช้กฎหมายที่อาจยังไม่ทั่วถึง ดังนั้น 3 ประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย การทำงานเรื่องสื่อดิจิทัลเพื่อลดการสูบยาสูบในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

นายพชร อินทรกุล นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย ได้กล่าวถึง ที่ผ่านมาตนและเพื่อน มีความสนใจในการผลิตสื่อจึงได้นำความสามารถมาสร้างสรรค์ผ่านการสื่อสารประเด็นการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ จากการได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ DigitorThailand ตัวเองและเพื่อนได้เรียนรู้จากทักษะการผลิตสื่อ และประเด็นในการสื่อสาร ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์สื่อติดแฮชแท็กนักศึกษายุคใหม่ไม่สูบไม่ส่งต่อบุหรี่ ที่ร่วมสร้างปรากฎการณ์เปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสพัฒนาและเพิ่มทักษะจากการลงมือทำสู่การเรียนรู้และตระหนักถึงประเด็นปัญหาสุขภาพมากขึ้น ที่สำคัญคิดว่ามีความประทับใจที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการสร้างสรรค์ผลงานสื่อผ่านการสื่อสารบนโลกสังคมออนไลน์ ที่ถือว่าเป็นเทรนด์ของคนยุคนี้ ยิ่งการได้ทำสื่อประเด็นบุหรี่ ถือว่ามีความท้าทายค่อนนข้างมาก ซึ่งยังมีความเชื่อว่าสื่อสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง และในวันนี้ได้มีโอกาสนำผลงานที่ตัวเองและเพื่อน ได้นำมาสื่อสารเผยแพร่ผ่านเทศกาลภาพยนตร์สั้น ในกิจกรรม IED.MC Short Film ครั้งที่ 7 DREAM ดินแดนแห่งความฝัน ถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถสื่อสารให้สาธารณะได้เห็นพลังจากการนำเสนอผลงานในครั้งนี้

ทั้งนี้ สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สสส. มีเป้าประสงค์หลักในการขยายโอกาสและพัฒนาศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ ได้ริเริ่มการสนับสนุนชุดโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสารสุขภาวะ ตั้งแต่ปี 2562 กระจายอยู่ทั่วทุกภาค ด้วยความเชื่อมั่นว่ากลุ่มเด็กเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสาร และหากการมีโจทย์การสื่อสารประเด็นปัญหาด้านสุขภาวะที่ชัดเจน เด็กๆจะเป็นพลังที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดขึ้นมากมาย ด้วยความคิดสร้างสรรค์และวิธีการสื่อสารที่เด็กๆ ออกแบบด้วยตัวเอง สำหรับพื้นที่ภาคใต้นั้น สำนัก 6 ได้ร่วมมือกับ DigitorThailand ในการกระจายโอกาสและพัฒนาทักษะกลุ่มเด็กเยาวชนให้เป็นนักสื่อสารสุขภาวะได้กว่า 170 คน ในพื้นที่ 10 จังหวัด มุ่งเป้าสื่อสารความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ ตลอดจนการความรู้และการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะของคนใต้อย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image