บุรีรัมย์ ลงขันร่วมสร้างฉัตร 9 ชั้น ยอดทองคำเปลว 360 ต้น ถวายพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1

บุรีรัมย์ ลงขันร่วมสร้างฉัตร 9 ชั้น ยอดทองคำเปลว 360 ต้น ถวายพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 สุดสวยงาม ประชาชน นักท่องเที่ยว แห่ชม และถ่ายภาพ ส่งผลให้เป็นแลนด์มาร์ค แห่งใหม่ของจังหวัด

นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นำประชาชนชาวบุรีรัมย์ ร่วมกันบริจาค ร่วมกันสร้าง และติดตั้ง ไฟฉัตร 9 ชั้น 360 ต้น ถวายบริเวณวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องในวันจักรี แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2564) ส่งผลให้เกิดเป็นทัศนียภาพใหม่ และเป็นแลนด์มารคใหม่ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ และผู้มาเยี่ยมเยือนต่างลงมาจอดรถเพื่อถ่ายภาพกันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ประชาชนจังหวัดบุรีรัมย์ ต่างเรียกตัวเองเป็นลูกหลานรัชกาลที่ 1 เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยกทัพไปปราบกบฏเขมร สมัยนั้นเรียกว่า “เมืองแปะ” ส่งผลให้เกิดชุมชน และมีผู้คนเข้ามาพักอาศัย ทำมาหากิน จนกลายเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ ในปัจจุบัน

สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ นี้ นายชัย ชิดชอบ สมัยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้มีส่วนร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ และ กรมศิลปากร นำเสนอโครงการ ให้รัฐบาลจัดสร้าง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นองค์ประธานเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อครั้งเป็นพระบรมโอรสาธิราช

Advertisement


นางสาวชิดชนก ชิดชอบ หรือ “น้องแนน” บุตรสาวนายเนวิน ในฐานะผู้ออกแบบและดำเนินการ กล่าวถึงความร่วมมือมือของพี่น้องประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในครั้งนี้ว่า แนวความคิดการออกแบบไฟฉัตร 9 ชั้น เสา 360 ต้น เกิดขึ้นจากแนวคิดในการจัดการพื้นที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ฯ เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการ 2 เดือน

“เดิมไฟบริเวณรอบอนุสาวรีย์ฯ มีเป็นจำนวนมาก ดูแล้วรกและมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนมากขึ้นทุกๆ ปี จึงมีความคิดที่จะพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ประกอบกับฉัตรที่ถวายพระบนบริเวณเขากระโดง ซึ่งฉัตรหมายถึงร่มที่สื่อความหมายถึงทำให้บ้านเมืองร่มเย็น คนอยู่สบายดีมีสุข และสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีรัชกาลที่ 1 กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ ขี่ช้างในกองทัพและมีคนถือฉัตรขาว 9 ชั้น จึงได้เกิดเป็นแนวคิดในการทำ ไฟฉัตร 9 ชั้น จำนวน 360 ต้น ที่สื่อความหมายเหมือนกับดูไปได้โดยรอบ ประกอบกับการใช้ลวดลายที่สื่อถึงในยุคนั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีส่วนร่วม เข้ามาปิดทองบริเวณรอบฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกผู้ก่อตั้งเมือง ซึ่งขณะนี้ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก” นางสาวชิดชนก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image