ผู้ว่าฯสมุทรสาคร เวิร์กฟรอมโฮม ประเดิมสั่งงานสำรวจพื้นที่ เตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลช่วยภัยน้ำเค็ม

จากปัญหาน้ำเค็มรุกหนักในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จนส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในพื้นที่ตำบลบางยาง กับตำบลท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่เกิดความเสียหาย เพราะขาดน้ำจืดใช้ในสวน และปีนี้บอกกันว่าเค็มที่สุดในรอบ 10 ปี

ซึ่ง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ทราบถึงปัญหาดังกล่าวนี้ จึงได้สั่งการในรูปแบบ Work From Home ประเดิมงานแรกหลังจากออกจากโรงพยาบาลศิริราช ด้วยการขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายรังสรรค์ กาพิยะ นายช่างเครื่องกลอาวุโส ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 1, นายประยงค์ บุญมีรอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สนง.ปภ.จ.สมุทรสาคร, นายจตุนันท์ จอมทัน ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอกระทุ่มแบน, นายวิษณุ สำรวยรื่น กำนัน ต.บางยาง, นางสาวณัฐนรี ช้วนรักธรรม วิศวกรชลประทานปฎิบัติการ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 และเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมหารือและลงพื้นที่สำรวจดูจุดที่เหมาะสมต่อการตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล

โดย จุดแรก คือ คลองหนองนกไข่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ต.หนองนกไข่ คลองนี้เป็นคลองหลักที่ยังมีน้ำจืดใช้ได้ หากนำเครื่องสูบน้ำระยะไกลมาตั้งที่คลอง จากนั้นจะลากสายข้ามแม่น้ำท่าจีน เพื่อไปลงคลองที่ใกล้ที่สุดที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง

Advertisement

โดยมีระยะห่างจากจุดตั้งเครื่องประมาณ 2.5 กิโลเมตร แต่อุปสรรคคือการวางแนวท่อที่จะต้องผ่านชุมชน และส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตที่ฝั่งท่อลงไปไม่ได้ ซึ่งก็ต้องหาวิธีวางเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน

สำหรับเครื่องสูบน้ำระยะไกล จะมีระยะไกลสุดคือ 3 กิโลเมตร โดยจะสูบน้ำจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ผ่านท่อขนาด 6 นิ้ว ขณะที่ นายวิษณุ สำรวยรื่น กำนัน ต.บางยาง เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้รายใหญ่ในพื้นที่ตำบลบางยาง บอกว่า หากได้เครื่องสูบน้ำมาช่วยก็น่าจะช่วยทุเลาปัญหาได้ เพราะจะได้เข้ามาเสริมรถส่งน้ำที่ทางกรมชลประทาน และ อบจ.สมุทรสาครดำเนินการอยู่ทุกวัน มีอยู่ราว 10 คัน ที่วิ่งส่งน้ำกันตามสวน

Advertisement

นายวิษณุกล่าวว่า แต่การวางแนวท่อก็อาจมีอุปสรรค เพราะการนำน้ำจืดจากอีกฝั่งข้ามมาอีกฝั่งมีระยะทางยาวและผ่านบ้านเรือน ซึ่งก็ต้องมาร่วมกันหาทางออกที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านต่อไป

ส่วนอีกหนึ่งจุดคือใน ตำบลสวนส้ม โดยนายอานนท์ ลิขิตวัฒนกิจ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงอำเภอบ้านแพ้ว, นายประยงค์ นอบน้อม นายก อบต.สวนส้ม และเกษตรกรในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูลว่า สำหรับในตำบลสวนส้มก็ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกเช่นเดียวกัน โดยน้ำทะเลได้หนุนและรอดเข้ามาทางประตูระบายน้ำในคลองบางยางเก่าที่ประตูชำรุดด้านข้างและด้านล่าง ความเค็มจึงค่อยไหลเข้ามา

ตอนนี้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือจาก อบจ.สมุทรสาคร และทางท้องถิ่นที่ส่งรถบรรทุกน้ำมาช่วย โดยมีแหล่งน้ำจืดหลักคือคลองคันพนังที่อยู่คนละฝั่งถนน จุดนี้จะไม่ยากต่อการนำน้ำจืดข้ามฝั่ง เพราะระยะทางสั้น และทางท้องถิ่นได้มีการขุดลอก อีกทั้งสำนักงานชลประทานจังหวัดสมุทรสาครได้มีการวางระบบท่อไว้อยู่แล้ว จึงใช้เพียงเครื่องสูบน้ำ 14 นิ้วสูบข้ามฝั่งจากคลองคันพนังแล้วมาลงคลองลำรางข้างทางที่เชื่อมต่อกับคลองบางยางเก่าได้เลย

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องซ่อมประตูระบายน้ำที่ชำรุดก่อน เพื่อป้องกันน้ำทะเลไหลเข้ามาอีก ซึ่งหากนำน้ำมาลงคลองบางยางเก่าได้ คลองนี้ก็จะเป็นจุดหลักที่สวนอื่นๆ จะสูบน้ำไปใช้ต่อได้ เพราะคลองมีความยาวมาก

นายประยงค์ บุญมีรอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สนง.ปภ.จ.สมุทรสาคร ผู้ได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่ เปิดเผยว่า หลังจากที่สำรวจแล้วก็จะนำผลสรุปเข้าที่ประชุม เพื่อหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุด จากนั้นจะนำเครื่องสูบน้ำที่ท่านวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ขอสนับสนุนไว้มาลงในพื้นที่ได้ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image