‘สิริพรรณ’ ชี้ส่ง ‘ธรรมนัส’ คุมพื้นที่ใต้-แก้โควิดเหลว ร่องรอยปริร้าวรบ.

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ตลอดจนกระแสการถอดถอน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และความขัดแย้งในการส่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปดูแลและกำกับงานในพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ซิ่งเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่ารัฐบาลน่าจะมีรอยปริร้าว หลังจากคุณอนุทินโดนถล่มหนักสุดด้วยการล่ารายชื่อถอดถอน หากจำได้ก่อนหน้านี้คุณอนุทินได้พาไปดูการทำงานของเจ้าหน้าที่สายด่วน 1668 เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีงบประมาณ แต่ยังไม่กล้าออกมาชนตรงๆ กับรัฐบาลหรือพลเอกประยุทธ์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็พยายามจะโบ้ยว่าเป็นความผิดพลาดของสาธารณสุข แต่ถ้าหากประเมินอย่างเป็นธรรม ก็ควรจะเป็นความรับผิดชอบโดยรวม ทั้งนายกรัฐมนตรีให้ฐานะหัวหน้า ศบค. รวมทั้งการบริหารของ ศบค.รวมทั้งคุณอนุทินด้วย

โดยมีคำถามถึงคุณอนุทินเรื่องวิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการบริหาร และโอกาสในการตัดสินใจกับการทำหน้าที่รัฐมนตรี ซึ่งเรื่องเหล่านี้น่าจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ แต่ปัญหาใหญ่ก็คือผู้รับผิดชอบ ศบค.ทั้งหมด ที่ผ่านมายังอ่านชื่อวัคซีนผิดพลาดแสดงว่าไม่เคยรับรู้หรือศึกษาเรื่องนี้มาก่อน แล้วจะแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤตได้อย่างไร

เชื่อว่าเรื่องนี้จะส่งกระทบทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะกระแสความไม่พอใจในการบริหารสถานการณ์โรคระบาดเกิดขึ้นและถูกถามหาความผิดชอบอย่างต่อเนื่อง หรือประเมินว่าถ้าจะมีความเปลี่ยนแปลงโดยปรับคุณอนุทินออกไป โควต้ารัฐมนตรีก็ยังเป็นของพรรคภูมิใจไทย อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าตรรกะหรือเหตุผลในการร่วมรัฐบาลไม่ใช่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ใช่การสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความสามารถ แต่เป็นปรับเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล

นอกจากนั้นยังมีคำถามใหญ่จากวิสัยทัศน์และมุมมองในการบริการจัดหารสถานการณ์โควิด -19 กรณีการใช้งบช่วยเหลือเยียวยา ที่ไม่ส่งตรงถึงประชาขน แต่นำงบประมาณไปผ่านกระทรวงทำให้ถูกมองเหมือนเป็นการแบ่งเค้กหรือไม่ หรือจะเป็นกาวใจที่รัฐบาลกำลังทำเพื่อดึงให้พรรคร่วม ดูเหมือนมีความภักดีในการทำงานร่วมกัน และปัญหาที่จะมีร่องรอยปริร้าวเกิดขึ้นจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก็คงต้องรอให้มีความผิดพลาดใหม่เกิดขึ้นอีกซ้ำๆ ในระยะต่อไป

Advertisement

ต้องยอมรับว่าวันนี้ยังมีกระแสของคนที่ยังเห็นใจรัฐบาลออกมาแก้แทน หรือหากคิดในมุมที่หนักที่สุดหากนายกรัฐมนตรีมีอันเป็นไป ถามว่าจะมีใครมาทดแทน ดูตามรายชื่อจะมีคุณอนุทิน ก็คงไม่เป็นที่ยอมรับ เหลือคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นบุคคลในฝั่งรัฐบาล ก็ยังเป็นทางเลือกที่ประชาชนอาจจะลังเลที่จะยอมรับได้ ขณะที่เสียงโหวตเสียงในสภา 2 ใน 3 เพื่อเอาคนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีกระบวนการพอสมควร เพราะฉะนั้นสถานการณ์นี้นอกจะเจอกับวิกฤตโควิดแล้ว ในทางการเมืองประชาชนยังถูกผลักให้เข้าทางตันโดยไม่มีทางเลือกมากนัก ทำให้กระแสความไม่พอใจที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ทันทีทันใด ประชาชนจึงต้องอดทนต่อไป

ส่วนโอกาสที่รัฐบาลจะเรียกความศรัทธากลับคืนมาก็ต้องดูว่าวัคซีนที่จะผลิตได้เองในประเทศภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีประสิทธิภาพและกระจายไปฉีดได้รวดเร็วหรือไม่ เพราะเป็นความหวังเดียวที่จะฟื้นฟูความไว้วางใจได้ แต่ประชาชนก็ต้องรอให้ถึงเวลาที่กำหนด เพื่อพิสูจน์ผลงานว่ารัฐบาลจะกระจายวัคซีนได้ทั่วถึงจริงหรือไม่ มีการจัดลำดับความสำคัญในการฉีด เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในการรับวัคซีนของกลุ่มเป้าหมายได้หรือไม่ เพราะหลายฝ่ายไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาซ้ำซ้อนในลักษณะเดียวกันกับหาเตียงรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.หรือไม่ เพราะยังถูกมองว่ามีการใช้ระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้เข้าถึงบริการ ทั้งที่การจัดการถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ แต่ประเด็นนี้ยังไม่มีกระแสมากนัก เพราะประชาชนใน กทม.ส่วนใหญ่ไม่ได้ประสบปัญหานี้ด้วยตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image