สกู๊ปหน้า 1 : เสียงสะท้อน ‘ห้ามกินในร้าน’ ยอดวูบ เซ่นโควิด

สกู๊ปหน้า 1 : เสียงสะท้อน ‘ห้ามกินในร้าน’ ยอดวูบ เซ่นโควิด

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงหนักหน่วง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ต้องยกระดับมาตรการควบคุมโรคเข้มข้น โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม ได้แก่

กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ที่มีผู้ติดเชื้อสูง และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้านอาหารถูกคำสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ต้องซื้อกลับบ้านสถานเดียวเป็นเวลา 14 วัน เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผล กระทบต่อยอดขายอย่างรุนแรงถ้วนหน้า

“มติชน” ได้สำรวจเสียงสะท้อนจากบรรดาร้านอาหาร ถอยหรือสู้ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม “นิธินัน แดงสดใส” อายุ 43 ปี เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวป๋าต้อ รสเด็ด เนื้อตุ๋น หมูตุ๋น (เจ็ดย่านน้ำ) เจ้าดังย่านถนนราชพฤกษ์ นนทบุรี กล่าวว่า โควิด-19 ที่หวนกลับมาเล่นงานระลอก 3 ทำให้ยอดขายน้อยลงอย่างมาก แม้ช่วงก่อนหน้านี้จะมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่ลูกค้ายังสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ ยังขายได้พอสมควร แต่เมื่อรัฐบาลประกาศห้ามนั่ง เกิดความไม่สะดวก ลูกค้าก็หายไปเกินครึ่ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นไม่หยุด สิ้นเดือนต้องจ่ายค่าแรงลูกน้อง ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ จิปาถะ ถ้าเป็นแบบนี้ไปนานๆ หรือเกินกว่า 14 วัน คงต้องพูดคุยกับหุ้นส่วนว่าจะทำอย่างไรต่อไป อาจต้องปิดกิจการลง หากทางภาครัฐยังไม่มีแผนช่วยเหลือ หรือมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการใดๆ ออกมา

“ธชาดล ภัทรวิไลโชค” ผู้จัดการร้านกินปูเมืองนนท์ อาหารทะเลสด อ.เมือง จ.นนทบุรี กล่าวว่า ได้รับผลกระทบสูงมาก ร้านขายอาหารทะเลสด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งต้นทุนสูง ช่วงการระบาดระลอก 1-2 ค้าขายแย่อยู่แล้ว ยังมาเจอระลอก 3 อีก อาหารทะเลที่สั่งมาบางครั้งก็ขายไม่หมด เก็บไว้นานไม่ได้เพราะจะเน่าเสีย ต้องนำมาทำกินกับลูกน้องในร้าน ยิ่งรัฐบาลออกประกาศไม่ให้นั่งรับประทานที่ร้าน ลูกค้าหายไปมากกว่า 50% เมื่อก่อนในวันธรรมดาขายได้วันละ 20,000-30,000 บาท วันหยุดขายได้ 70,000-80,000 บาท วันนี้ขายได้วันละ 4,000-5,000 บาท เท่านั้น แต่รายจ่ายยังเดินไม่หยุดเดือนละเกือบ 2 แสนบาท จึงต้องลดเงินเดือนลูกน้อง โดยคุยกับลูกน้องว่าให้ช่วยกันไปก่อน ให้ออกไปก็ตกงานอีก อยากให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ บ้าง ทุกวันนี้แย่กันทั่วหน้า ได้รับผลกระทบกันทุกร้านไม่ว่าจะเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว ร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านขายข้าวแกง ร้านขายส้มตำ หรือยันร้านอาหารหรู นิ่งสนิทยอดติดลบกันไปหมด

Advertisement

“นารินทร์ คุ้มแก้ว” เจ้าของร้านอาหารครัวคุ้มแก้ว จ.ปทุมธานี กล่าวว่า เปิดค้าขายมาเกือบ 20 ปี ก่อนหน้าจะเกิดโควิด-19 รอบแรก รายได้ประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อวัน พอมีการแพร่ระบาด ยอดขายเหลือ 30,000-40,000 บาทต่อวัน ยิ่งมามีมาตรการไม่ให้นั่งกินที่ร้าน จึงตัดสินใจปิดกิจการไม่ต่อสัญญาเช่าที่ ที่สูงมากตก 75,000 บาทต่อเดือน จะไปหาเช่าที่ใหม่ถูกกว่าเดิม พอเปิดร้านใหม่ก็เจอการแพร่ระบาดรอบ 2 มียอดขายประมาณ 30,000-40,000 ต่อวัน ยังพออยู่ได้ แต่มาตรการล่าสุดของ ศบค. ทางร้านต้องปิดอีกครั้ง ขืนทำต่อก็ไม่มีเงินเพียงพอจ่ายค่าแรงงานพนักงาน ไม่รู้ว่ามาตรการแบบนี้จะช่วยอะไรได้ดีจริงหรือไม่ ตอนนี้ผู้ประกอบการอาหารทั้งเล็กใหญ่เป็นเหมือนกันหมดแทบประคองตัวเองไม่ไหว

“ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งแรก ผมไม่ต่อสัญญาเช่าเพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว หาเช่าพื้นที่ใหม่เพื่อทำร้านอาหาร กู้เงินแบงก์เกือบ 10 ล้านบาท มาลงทุนสร้างร้านใหม่ เพิ่งเปิดขายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ปีนี้ การค้าขายก็แย่มาโดยตลอด วันนี้รัฐบาลมีคำสั่งจากการระบาดรอบที่ 3 ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากเดิมเคยจ้างพนักงานเกือบ 20 คน ต้องลดเหลือ 7-8 คน เท่านั้น รัฐบาลห้ามรับประทานที่ร้าน ถามว่าจะมีสักเท่าไรที่มาซื้อกลับบ้าน ครั้งนี้หนักกว่าทุกรอบ อยากฝากให้รัฐบาลให้ทบทวนและมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารด้วย”

“สุรพล รุ่งสุริยากรณ์” เจ้าของร้านนายกบเป็ดย่างฮ่องกง อ.เมืองชลบุรี กล่าวว่า คำสั่งห้ามนั่งรับประทานในร้านทำให้การค้าขายแย่มาก คนหายหมด เพราะบางคนชอบนั่งทานที่ร้านมากกว่า คิดว่าว่าควรกำหนดเว้นระยะห่าง หรือจำกัดคนที่นั่งทานดีกว่า วันนี้ขายลดลงไปประมาณ 70% ช่วงเริ่มระบาดก็แย่อยู่แล้ว เพราะไม่มีคนออกมาซื้ออาหารกินกัน เมื่อมีประกาศคำสั่งห้ามนั่งในร้านเพิ่มขึ้นมาอีก ทำให้ร้านค้าแย่ลงไปใหญ่ ทางแก้ไขควรจะมีการกำหนดพื้นที่เท่านั้นเท่านี้ นั่งได้กี่คน ควรเว้นระยะห่างเท่าใดจะดีกว่า เพราะทางร้านก็มีมาตรการในการป้องกันอยู่แล้ว

“นเรศ เอี่ยมอ่อง” เจ้าของร้านข้าวขาหมูไม่กินไม่รู้ ตั้งอยู่ริมถนนพระยาสัจจา อ.เมืองชลบุรี กล่าวว่า ช่วงการระบาดแม้อนุญาตให้นั่งรับประทานได้ก็แทบจะไม่มีคนมาซื้ออยู่แล้ว เดิมขายได้วันละ 4,000-5,000 บาท หากนั่งกินไม่ได้อาจลดลงไปครึ่งหนึ่ง ประมาณ 2-3 พันบาท ถ้าเป็นไปได้อยากให้เว้นระยะห่าง เหมือนกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ผ่านมา ยังอนุโลมให้นั่งกินได้ และให้เว้นระยะห่าง หากห้ามนั่งทั้งกลางคืน กลางวัน ทำให้แย่กันไปใหญ่ ประกอบกับช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลไม่มีเงินแจก แล้วชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย

“ชูศิลป์ โชติช่วง” เจ้าของร้านภูเก็ตลายคราม หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การค้าขายยังพอขายได้ แต่ยอดขายลดลงมาก หายไปถึง 70% เพราะร้านเปิดตั้งแต่ 06.00 น. ปกติจะมีคนออกมาซื้อกับข้าวใส่บาตรแล้วถือโอกาสนั่งกินมื้อเช้าก่อนไปทำงาน แต่สองวันที่ผ่านมาลูกค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเทียบกับการระบาด โควิดระลอกแรกและระลอกสองที่งดการนั่งกินที่ร้าน ตอนนั้นลูกค้าก็หายไปแล้ว 50%

“เวลาที่ห้ามนั่งเหลืออีกกว่า 10 วัน คงไม่ไหวแน่ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงวันหยุดชดเชยหลายวัน วันอังคาร (วันฉัตรมงคล) จะหยุดอีก คงต้องดูวันพุธว่าจะมีคนหรือไม่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยชียงใหม่หากเปิดแล้วมาทำงานจะขายได้หรือไม่ เพราะหากเปิดร้านขายแล้วได้ไม่คุ้มเสียก็คงต้องปิด เพราะมีค่าน้ำค่าไฟ ต่อวันเฉลี่ย 500 บาทแล้ว ถ้าต้องแบกภาระ ทุกวันคงขายไม่ไหว เด็กพนักงานเขาก็หารือกันเองว่าจะหยุด เพื่อไม่ให้เราเดือดร้อนแบก ค่าใช้จ่ายรายวัน คาดว่าลูกค้าน่าจะเลือกซื้อของสดกลับไปทำกับข้าวกินเองที่บ้าน ไม่ออกนอกบ้านมากกว่า เพราะรอบนี้เมื่อถึงช่วงบ่ายไม่มีคนเลย จากปกติมีคนเดินเข้าออก จะรอดูสถานการณ์วันสองวันนี้ หากลูกค้าลดลง เหลือ 10% คงต้องปิดร้านไปก่อนที่จะอนุญาตให้นั่งกินที่ร้านได้อีกครั้ง” เจ้าของร้านภูเก็ตลายครามระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image