ผู้ว่าฯกาญจน์ ประกาศขยายเวลาปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ฝ่าฝืนเจอคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 7 พ.ค.64 นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี ประกาศคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 2240/2564 เรื่อง ขยายเวลาการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 19)
ระบุว่า อนุสนธิคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 1896/2564 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2564 เรื่อง ขยายเวลาการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 19) ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นั้น

เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อย่างต่อเนื่อง และข้อ 1 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 และข้อ 2 (2) (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 กำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และ 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และข้อ 2 และ 8 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี จึงขยายเวลาการปิดสถานบริการ สถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบ กิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรง แก่สาธารณชน หรือผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ โดยไม่มีเหตุอันสมควรจะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image