บุคลากรทางการแพทย์ รพ.สนาม มธ. ยืนยันสู้เคียงข้างประชาชน ล่าสุดยังรับผู้ป่วยได้อีก 200 คน
เมื่อเดือนพฤษภาคม วันที่ 27 ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 470 เตียง วันนี้จำนวนผู้ป่วยใหม่ในประเทศยังเป็น 2000+ และผู้เสียชีวิตทั่วประเทศก็คือ 27 ราย ผู้ป่วยใหม่ใน กทม.มีมากกว่า 700 ราย ตัวเลขเป็นไปตามที่ประเมินไว้เมื่อวานว่าจะเป็นตัวเลขทรงๆ อยู่แถวๆ นี้ไปอีก 2-3 วัน ขึ้นกับจำนวนคลัสเตอร์ใหม่ 2-3 กลุ่มใน กทม.
ต้นสัปดาห์หน้าตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่น่าจะลดลงอย่างที่ฝ่ายประเมินสถานการณ์และวางแผนของ รพ.สนามให้ความเห็นไว้ แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็คงอยู่ราวๆ 20 รายต่อวัน ไปอีกหลายสัปดาห์ทีเดียว ถ้าพูดในภาพรวมก็ต้องบอกว่าแม้จะมีคลัสเตอร์ใหม่ 2-3 กลุ่มในสัปดาห์นี้ใน กทม. แต่ระบบสาธารณสุขของเรายังคงสามารถยันสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมดและคงจะไม่กลับไปเลวร้ายเหมือนสถานการณ์ในสัปดาห์ก่อนอีก
สำหรับการคัดกรองเชิงรุกใน มธ.ศูนย์รังสิตเมื่อ 4-5 พ.ค. ที่ได้มีการตรวจ Swab เชิงรุกให้ น.ศ.และบุคลากร ผู้ที่ปฏิบัติงานใน มธ.ศูนย์รังสิตจำนวน 3,290 คน ปรากฏว่าพบผลบวกทั้งหมด 9 ราย คิดเป็นประมาณ 0.3% ก็นับว่าต่ำ นี่อาจจะเป็นสัดส่วนที่เป็นจริงในภาพใหญ่ของสังคมกรุงเทพฯปัจจุบันได้ และขณะนี้ทั้ง 9 รายนี้ได้เข้าแอดมิตที่ รพ.ธรรมศาสตร์เรียบร้อยแล้ว และสำหรับผลการ Swab กลุ่มเสี่ยงที่มาขอรับการ swab ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ 176 รายเมื่อวาน เราพบผลเป็นบวกทั้งหมด 8 ราย คิดเป็น 4.5% อัตราต่างกันมากระหว่างกลุ่มเสี่ยงกับคนปกติทั่วไป
สำหรับโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ วันนี้รับผู้ป่วยเข้ามาใหม่ 25 ราย ทั้งจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และ รพ.อื่นๆ รวม 7 แห่ง แต่ก็ได้ส่งผู้ป่วยกลับบ้านได้มากกว่า มีจำนวนถึง 55 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยรวมที่อยู่กับเราลดลงมาเหลือ 239 รายแล้ว เห็นไหมว่าสถานการณ์เริ่มค่อยๆ ดีขึ้นจริงๆ แล้ว
เรื่องเศร้าเรื่องเล็กๆ เรื่องนึงในความวุ่นวายของสถานการณ์โควิดที่นี่ก็คือ เมื่อเช้าพยาบาล RCU แจ้งมาแต่เช้าว่าเพื่อนของเราคนนึงในหอผู้ป่วยวิกฤตอาการไม่ดีอย่างมาก เพื่อนคนนี้เป็นทันตแพทย์ รับแอดมิตมาที่นี่ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์แล้ว หมอโชคไม่ดีที่ติดเชื้อทั้งครอบครัว แต่ภรรยาและลูกได้กลับบ้านไปกักตัวที่บ้านแล้ว แต่หมอต้องเข้าห้องวิกฤตที่ RCU มาตั้งแต่วันแรกก่อนสงกรานต์ เพราะมีอาการป่วยแล้วสองสามวันจึงไป Swab และหลังพบเชื้อก็เสียเวลาอยู่อีก 3 วันกว่าจะเข้ามาที่โรงพยาบาล ยิ่งไปกว่านั้นหมอยังมีโรคหอบหืดและหัวใจที่ต้องติด Pacemaker เมื่อมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่สงกรานต์เราก็เข้าไปดูมอนิเตอร์อาการของหมอทุกวันและก็แจ้งอาการให้ภรรยาหมอที่ตอนหลังได้กลับไปกักตัวที่บ้านทราบ และต้องคอยติดตามอาการของหมออย่างเป็น Routine วันละครั้งสองครั้งจนเป็นกิจวัตรประจำของการเข้า RCU ข่าวเศร้าเรื่องอาการของหมอที่ drop ลงตั้งแต่เมื่อคืนมาถึงไม่นาน ตอนเกือบ 11 โมง ยังไม่ทันได้เข้า RCU เพื่อไปลากัน ก็ได้ทราบจากไลน์ว่าหมอจากไปแล้ว
ใจหาย…ที่ต่อไปนี้เวลาเข้าไปดู RCU ไม่มีเคสที่จะต้องไปคอยติดตามเป็นพิเศษเพื่อแจ้งครอบครัวอย่างที่ทำมาตลอดสี่สัปดาห์อีกแล้ว แต่อีกนัยหนึ่ง มันก็คงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราที่นี่ให้ทำงานให้มากยิ่งขึ้น ให้หนักยิ่งขึ้นเพื่อจะพยายามให้ทุกคนได้รับการดูแลในโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีอย่างหมอขึ้นที่นี่อีกในวิกฤตโควิดนี้
ขอยืนยันกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคร้ายนี้ที่เราดูแลและญาติมิตรที่คอยห่วงใยแต่ไม่มีโอกาสมาเยี่ยมเลยว่า พวกเราที่ธรรมศาสตร์และในโรงพยาบาลทุกแห่งในระบบสาธารณสุขของประเทศจะทำอย่างเต็มกำลังความสามารถและจะทำให้ดีที่สุดที่จะทำให้คนที่รักของท่านได้กลับไปพบกับครอบครัวอีกครั้งโดยมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
เราจะเข้มแข็งขึ้นอีก เราสัญญา
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์
เราทำงานหนักแล้วและจะทำให้หนักขึ้นอีก
ทำตามหน้าที่ไป