ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์ เรียก 21 อปท.ถกด่วน เร่งแก้ปัญหาค่ายธนะรัชต์ ห้ามนำขยะไปทิ้งในบ่อบำบัดรวม

กรณีองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) 21 แห่ง ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี อ.เมือง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับแจ้งให้ยุติการนำขยะไปทิ้งที่บ่อบำบัดขยะรวมแบบฝังกลบภายในศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ (ศร.) อ.ปราณบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 หลังจากมีการใช้พื้นที่ ศร.เป็นศูนย์กำจัดขยะรวม เป็นระยะเวลา 20 ปี ขณะที่จังหวัดได้ทำหนังสือยื่นขอผ่อนผันใช้พื้นที่กำจัดขยะ แต่ ศร.แจ้งว่ากองทัพบกไม่อนุญาต

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน มีรายงานว่า นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดหลายหน่วยงาน ประชุมด่วนที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสถานที่ที่ทิ้งขยะรวม พร้อมกำชับผู้เกี่ยวข้อในการประชุมทุกราย งดให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีเอกภาพ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยมีแนวทางของผ่อนผันการใช้สถานที่ทิ้งขยะในค่ายทหาร และขอให้เทศบาลตำบลเขาน้อย อ.ปราณบุรี เร่งดำเนินการขอใช้พื้นที่ใน ศร. แทนเทศบาลตำบลปราณบุรีเจ้าภาพรายเดิม ขณะที่หลังการประชุมตัวแทนหลายหน่วยงานมีความเห็นว่าการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา ควรเชิญผู้บริหาร อปท. 21 แห่ง เข้ามาหารือก่อนหน้านี้ล่วงหน้านานหลายเดือน ก่อนเหลือเวลาอีก 20 วัน ถึงกำหนดวันปิดบ่อขยะเพื่อกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาขยะ

นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวว่า พื้นที่เทศบาลหัวหิน 84 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) มีขยะเฉลี่ยวันละ 160 ตัน มีผลกระทบมากที่สุด ก่อนถึงกำหนดปิดบ่อขยะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการนำขยะไปบำบัด รวมทั้งการจัดหางบประมาณค่าขนส่งเพิ่มจากการใช้รถเทรลเลอร์ของเอกชนผู้รับจ้าง การจัดหาสถานที่พักขยะ หากไปบำบัดในต่างจังหวัดก็ต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าจะมีการนำขยะข้ามเขตจังหวัดได้หรือไม่

“มีการเจรจากับชาวบ้านในเส้นทางที่รถบรรทุกขยะแล่นผ่านเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะนี้จะต้องมีข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรก่อนวันที่ 30 มิถุนายนนี้ แต่เบื้องต้นขอให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่มองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยเทศบาลหัวหินพร้อมสนับสนุนหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ของ ศร. เนื่องจากการก่อสร้างจะไม่มีปัญหากับประชาชน” นายนพพรกล่าว

Advertisement

นายสุทธิพร เที่ยงธรรม ปลัดเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เทศบาลพื้นที่ 14 ตร.กม. มีขยะวันละประมาณ 40 ตัน ขณะนี้นำขยะไปบำบัดที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ระยะทางไปกลับ 400 กิโลเมตร นานกว่า 4 ปี โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนรับเหมาค่าขนส่งวันละ 32,000 บาท ขณะที่เดิมได้ขยะไปบำบัดที่ ศร. แต่ได้รับการทักท้วงให้ใช้รถขยะที่มีมาตรฐานตามแบบที่กำหนด แต่เทศบาลไม่มีความพร้อมจึงมีเปลี่ยนสถานที่และยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

“สำหรับเทศบาลประจวบคีรีขันธ์ในอดีตเคยรับเป็นเจ้าภาพจัดการศูนย์ขยะรวม 16 องค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ล่าสุดได้ขอคืนงบประมาณกว่า 180 ล้านบาทให้กรมควบคุมมลพิษแล้ว เนื่องจากที่ดิน 2 แปลงที่เทศบาลซื้อจากประชาชนที่ ต.บ่อนอกและ ต.อ่าวน้อย อ.เมือง ไม่สามารถเดินหน้าทำโครงการได้ตามแผน เนื่องจากคนในพื้นที่คัดค้าน สาเหตุจากไม่เชื่อมั่นมาตรการป้องกันผลกระทบ และเชื่อว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน“ นายสุทธิพรกล่าว

นายเกรียงไกร ทวีกาญจน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน กล่าวว่า เทศบาลได้เตรียมสถานที่ทิ้งขยะแบบฝังกลบชั่วคราวไว้แล้ว หากต้องทิ้งขยะจากครัวเรือนคงไม่มีปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าขยะส่วนใหญ่ 90% มาจากชุมชนโรงงานสับปะรดกระป๋องของบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ที่มีแรงงานพม่าและแรงงานคนไทยติดเชื้อโควิดสะสมแล้วจำนวนมาก และมีพนักงานติดเชื้อรายวันเพิ่มอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งโรงพยาบาลสนามภายในหอพัก มีการกักตัวกลุ่มเสี่ยง จะทำให้มีปริมาณขยะเพิ่ม และสิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือการบริหารจัดการขยะติดเชื้อต้องมีมาตรฐานตามหลักวิชาการ

Advertisement

นายชนพหล ส่งเสริม ปลัดจังหวัดเพชรบุรี ในฐานะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยระดับจังหวัด กล่าวว่า ทราบว่าหลายอำเภอใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีปัญหาจากการปิดบ่อขยะในค่ายทหาร คาดว่า อปท.หลายแห่งใน อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี สนใจจ้างเอกชนนำขยะไปบำบัดในพื้นที่ต่างๆ ของ จ.เพชรบุรี เพื่อไม่ให้มีผลกระทบในระยะสั้น จะแจ้งให้ผู้เกี่ยงข้องระดับอำเภอสำรวจบ่อขยะทุกแห่งของ อปท.ว่ามีมาตรฐานหรือไม่ พร้อมแจ้งวิธีการบำบัด ปริมาณขยะสะสม ขอให้ติดตามตรวจสอบการบรรทุกขยะข้ามจังหวัดเข้ามาบำบัดว่ามีปริมาณขยะรวมเท่าใดต่อวัน โดยแยกให้ชัดเจนว่ามีขยะครัวเรือน ขยะอุตสาหกรรม หรือมีขยะติดเชื้อปะปนด้วยหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image