บึงกาฬ พบผู้ป่วย 4 ราย ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าครั้งแรก เน้นย้ำเข้มมาตรการป้องกัน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ เรียกประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ เพื่อหารือยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยมีหน่วยงานสาธารณสุข ทหาร ตำรวจ ตลอดจนหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอทุกอำเภอ ร่วมประชุม

หลังพบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ในผู้ป่วยรายที่ 40, 41, 44 และ 45 ของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีอาการน้อย แพร่เชื้อได้ง่าย และสั่งการให้ทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ เร่งกำชับทุกพื้นที่ เฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากจังหวัดเสี่ยงสูง ขอให้กักตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

ช่วงนี้ขอให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด กิจกรรมรวมกลุ่มสังสรรค์ควรงด ออกนอกบ้านสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่คนแออัด จะช่วยป้องกันโรคได้

สำหรับมาตรการล่าสุดของ จ.บึงกาฬ ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด คือ (กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ) ต้องมีหลักฐานในการเดินทางเข้าพื้นที่บึงกาฬ คือ 1.เอกสารรับรองผลการตรวจโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมง 2.หากมีสมาร์ทโฟนให้ลงทะเบียนก่อนเข้าจังหวัด ที่ QR Code หรือที่ลิงก์ของจังหวัด โดยให้แจ้งรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการซักประวัติ และประเมินความเสี่ยง

Advertisement

ทุกคนต้องกักตัว 14 วัน หากยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 สำหรับการกักตัวแบ่งได้เป็น 2 กรณี ได้แก่ 1.กรณีมีหลักฐานข้อ 1 และไม่มีประวัติเสี่ยง จะถือว่าท่านเสี่ยงต่ำ : ให้กักตัวที่บ้าน 14 วัน 2.กรณีมีหลักฐานไม่ครบ หรือมีประวัติเสี่ยง จะถือว่าท่านเสี่ยงสูง : ต้องกักตัวที่สถานกักกันของจังหวัด 14 วัน คือ ม.ราชภัฏอุดรธานี ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ

ส่วนกรณีมีหลักฐานคือเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน สามารถเดินทางมาได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่มีเงื่อนไข คือ 1.ได้รับวัคซีน Sinovac เข็มที่ 2 มาแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือ 2.ได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 1 มาแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด กรณีนักท่องเที่ยว ต้องผ่านการซักประวัติที่ด่านคัดกรองก่อนเข้าจังหวัด หากเสี่ยงสูง ต้องกักตัว 14 วัน

ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 11 จังหวัด ต้องแจ้งรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการซักประวัติ และประเมินความเสี่ยง แต่ทุกคนต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน หากยังไม่ได้รับวัคซีน เงื่อนไขเช่นเดียวกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุม 9 จังหวัด ต้องแจ้งรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการซักประวัติ และประเมินความเสี่ยง จากนั้นเฝ้าระวังตัวเอง (ไม่ต้องกักตัว) และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด

ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เฝ้าระวังสูง 52 จังหวัด ต้องแจ้งรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการซักประวัติ และประเมินความเสี่ยง จากนั้นเฝ้าระวังตัวเอง (ไม่ต้องกักตัว) และปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ 0-4249-2046 ต่อ 114 (ในเวลาราชการ) หรือ 0-6120-53743 (นอกเวลาราชการ)

ส่วนที่ห้องประชุมภูกระแต ชั้น 5 โรงพยาบาลบึงกาฬ นายแพทย์ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ และนายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบึงกาฬ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่พบผู้ติดเชื้อรายที่ 40, 41, 44 และ 45 ของจังหวัดบึงกาฬ เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า

นพ.ภมรกล่าวว่า สถานการณ์ทั้งหมด พบผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด 46 ราย รักษาหายสะสม 39 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย กำลังรักษาตัวอยู่จำนวน 6 ราย ผู้ป่วยรายล่าสุดตรวจพบเชื้อเมื่อวานนี้ โดยผู้ป่วยเดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนี้ ในกรณีเคสที่ 40, 41, 44 และ 45 ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัวเดียวกัน เดินทางมาจากเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมงานศพที่ อ.เซกา จากผลตรวจปรากฏเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอาการน้อย แต่แพร่เชื้อได้ง่าย การตอบสนองต่อวัคซีนน้อยกว่าสายพันธุ์อังกฤษ

นพ.ภมรกล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬจึงมีความเป็นห่วงว่าหากมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้จะทำให้มีการแพร่ระบาดภายในจังหวัดได้มากขึ้น จึงฝากกำชับทุกพื้นที่เฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากจังหวัดเสี่ยงสูง และขอให้กักตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ควรงดกิจกรรมรวมกลุ่มสังสรรค์ ออกนอกบ้านสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด จะช่วยป้องกันโรคได้ ซึ่งหากบุคคลที่มาจากพื้นที่เสี่ยงแล้วไม่ยอมกักตัว หรือทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ด้าน นพ.กฤษฎากล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยว่า หากตรวจเชื้อได้เร็ว ก็จะป้องกันอาการปอดอักเสบ และอาการรุนแรงได้ การรักษาก็จะได้รับผลลัพธ์ที่ดี จึงขอให้ผู้ที่มีความเสี่ยงให้ข้อมูลตามจริง และไม่ปกปิดข้อมูล ส่วนในกรณีผู้ป่วยทั้ง 4 รายที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 1 ใน 4 ราย มีอาการปอดอักเสบ ภายหลังจากที่เข้ารับการรักษา ซึ่งทางโรงพยาบาลบึงกาฬได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในวันที่ 2 อาการดูเหมือนจะดีขึ้น แต่พอครบ 5 วันอาการกลับทรุดลง จึงมีการให้ยาต้านไวรัสอีกชนิดหนึ่ง ณ ปัจจุบันคนไข้อาการดีขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดอีกรอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image