หมอแจง โควิดของผู้ป่วยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่น่าห่วง ย้ำจังหวัดออกมาตรการเข้ม เพื่อรักษาโครงการอย่างสุดชีวิต

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ในช่วงหลังเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 9 ราย 10 ราย 15 ราย ในวันที่ 18 ก.ค.64 มี 2 ราย แยกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย และจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 1 ราย

นพ.เฉลิมพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทุกคนมีอาการดี เพราะได้รับวัคซีนมา บางคนไม่มีอาการแต่เจอผลบวก ต้องแยกตัวไปกักตัวและเข้ารักษา ยังไม่มีผู้ป่วยอาการหนักที่จะต้องเข้าห้องไอซียู ซึ่งผู้ป่วยมาจากหลายชาติ อาทิ ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และไทย ทั้งนี้ ข้อมูลระหว่างวันที่ 1-17 ก.ค.64 ผู้ป่วยโควิด-19 จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รวมทั้งหมด 16 ราย ในจำนวนนี้มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อครั้งที่ 1 ทั้งหมด 8 ราย เพราะ 7 รายเจอบวกตั้งแต่เข้ามาสวอบที่สนามบิน แต่อีก 1 รายมีอาการป่วยในวันที่ 2 และวันที่ 3 หลังจากเข้ามา คิดว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา

นพ.เฉลิมพงษ์กล่าวว่า ประเด็นนี้ได้ประสานกับ ททท. และกระทรวงต่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการออก COE และผลแล็บที่อาจย้อนแย้งกับผลแล็บของไทย ส่วนที่พบในวันที่ 6-7 ของการอยู่ในภูเก็ต เจอ 7 ราย ยังก้ำกึ่งว่าจะเป็นการติดเชื้อในระยะฟักตัวหรือติดเชื้อในภูเก็ต เป็นได้ทั้งสองอย่าง ส่วนการอยู่ในภูเก็ตวันที่ 12-13 เจอ 1 ราย

Advertisement

“สถานการณ์โรคโควิด-19 ของผู้ป่วยโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่น่าเป็นห่วง สามารถตรวจเจอได้เร็วแยกไปรักษาได้ แต่ที่ห่วงคือคนไทยที่เข้ามาจากจังหวัดที่เสี่ยงทำให้มีการระบาดในชุดหลังที่เจอ 10 ราย 15 ราย ต่อวัน ทางจังหวัดภูเก็ตจึงมีการเพิ่มมาตรการตรงนี้ออกมา เพื่อประคองให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ผ่านไปได้ด้วยดี การบริหารจัดการศักยภาพของโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตจะไม่วิกฤตจนเกินไป

“ส่วนความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ เราค่อนข้างระมัดระวังในส่วนของประชาชนที่มาจากจังหวัดเสี่ยงเข้มข้นสูงสุด โอกาสจะเป็นพันธุ์เดลต้าที่เรากลัวกันค่อนข้างสูง สามารถแพร่กระจายรวดเร็ว ขณะนี้ในภูเก็ตพบสายพันธุ์เดลต้าแล้ว 7 ราย จึงมีการเพิ่มมาตรการที่จะเข้ามาภูเก็ต จะต้องฉีดวัคซีนครบและต้องมีการสวอป ทั้ง Rapid Antigen Test หรือ RT-PCR ในส่วนที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เข้ามาเหมือนกัน มีการปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้นเพื่อไม่ให้ยอดผู้ป่วยในภูเก็ตมีจำนวนมากขึ้น” นพ.เฉลิมพงษ์กล่าว

นพ.เฉลิมพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนยอดเตียงถือว่าบริหารจัดการได้ แต่หากตัวเลขของการเจ็บป่วยยังอยู่ที่วันละ 10 ราย หรือ 15 รายขึ้นไป โดยเฉลี่ยตามมาตรการที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกคือภายใน 1 สัปดาห์ เกิน 90 ราย หมายถึง 13 รายต่อวัน ถ้าปริมาณคนไข้ประมาณนี้จะทำให้เกิดภาวะวิกฤตเรื่องเตียงที่จะรองรับในผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีส้ม ในส่วนผู้ปวยอาการหนักผู้ป่วยสีแดงที่ต้องใช้ไอซียู จึงต้องจัดการความเข้มข้นของการควบคุมโรคก่อน

“ภูเก็ตมีมาตรการเฝ้าระวังสูง และมีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชน เป็นความโชคดีที่เศรษฐกิจต่างๆ เริ่มดีขึ้น อยากให้ช่วยกันรักษาบรรยากาศที่ดี ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อพยายามรักษาภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไว้อย่างสุดชีวิต ให้อยู่กับเราได้นานที่สุด เพราะเป็นเรื่องดีของประเทศไทย

“ได้มีการประเมินความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในครึ่งเดือนหลัง ถ้ามีกิจกรรมเหมือนเดิม มีการรวมตัวกันต่างๆ จะมีการแพร่ระบาด ซึ่งทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น ขอให้ชาวภูเก็ตปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT เหมือนเดิม แต่กิจกรรรมหลายอย่างต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของภูเก็ต” นพ.เฉลิมพงษ์กล่าว

นพ.เฉลิมพงษ์กล่าวว่า สิ่งที่ขอฝากประชาชนคือยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน อยากเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีน ซึ่งเรามีเพียงพอกับทุกคน รวมถึงประชากรแฝงที่มาทำงานที่ภูเก็ต เข้ามาลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.ภูเก็ตต้องชนะ.com ในนามองค์กร หรือให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรับรองมา เพื่อมาฉีดวัคซีนกัน ซึ่งต้องวัคซีนให้เกิน 70% ของประชากร

นพ.เฉลิมพงษ์กล่าวว่า การฉีดวัคซีนใน จ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่มีซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า และจากการหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทราบว่ามีนโยบายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน โดยจะเริ่มในสัปดาห์หน้า ส่วนเคสต่อไปฉีดแอสตร้าเซนเนก้าให้บุคลากรปฏิบัติงานที่ด่านหน้า คาดว่าในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ส่วนประชาชนจะฉีดแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนทางเลือกอื่น อยู่ระหว่างการดำเนินการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image