อาจารย์ ม.อุบลฯ เผยรัฐต้องเร่งรัดกระบวนการลดค่าเทอม ลั่นอย่า ‘ลดทิพย์’

อาจารย์ ม.อุบลฯเผยมาตรการรัฐบาลจะลดค่าเทอม-ค่าธรรมเนียม นักศึกษา รัฐต้องเร่งรัดในกระบวนการทางกฏหมายและทางงบประมาณ อย่า “ลดทิพย์”

ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า จากกรณีรัฐบาลประกาศลดค่าเทอมของนักเรียนนักศึกษานั้นมองว่าคือการตัดสินใจในเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากต้องยอมรับว่าท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนั้น นอกจากการจัดการเรียนการสอนในที่ตั้งจะดำเนินการได้ไม่เต็มที่แล้ว ผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจยังทำให้รายได้ของประชาชนลดน้อยลง ทำให้เกิดความยากลำบากในการหาเงินเพื่อชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถช่วยเหลือและเยียวยาในส่วนนี้ได้ย่อมจะทำให้เกิดผลดีกับทั้งตัวนักเรียนนักศึกษาและผู้ปกครอง รวมไปถึงแบ่งเบาแรงปะทะที่สังคมมีต่อสถานศึกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่รัฐบาลต้องชัดเจนอย่างมาก คือการปลดล็อกในเชิงระเบียบ การออกประกาศลดค่าธรรมเนียม และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมบัญชีกลาง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่จะต้องกำหนดมาตรการที่ชัดเจนออกมารองรับ เพื่อให้สถานศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ประสบปัญหาในแง่กฎหมายในภายหลัง นอกจากนี้รัฐบาลเองต้องมีความจริงใจและต้องจัดสรรงบประมาณจริง มิใช่เป็นเพียงการดำเนินการผ่านลมปากในทางนโยบาย เพื่อที่ทางสถานศึกษาจะได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง

ดร.ปิยณัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำความเข้าใจ คือสถานการณ์ของสถานศึกษาแต่ละแห่งว่ามีบริบทและงบประมาณที่แตกต่างกันและอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในอัตราที่เท่ากัน เพราะในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษามีความเหลื่อมล้ำทั้งในแง่การจัดสรรงบประมาณที่ได้จากรัฐอย่างไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงรายได้จากแหล่งที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้การลดค่าธรรมเนียมการศึกษาในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นจำนวนมากจากรัฐและมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์นั้นอาจไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ซี่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่มีขนาดเล็กหลายแห่ง เนื่องจากการลดค่าธรรมเนียมในอัตราที่เท่ากันอาจส่งผลถึงเสถียรภาพทางการเงินของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็เป็นได้

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือและเยียวยาสถานการณ์ทางการเงินของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กในภูมิภาคด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นนโยบายลดค่าธรรมเนียมการศึกษาดังกล่าว อาจนำมาสู่วิกฤตและความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยก็เป็นได้ เพราะรายจ่ายของมหาวิทยาลัยมิได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในสถานการณ์โควิด-19 นี้เลย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะออกมาตรการดังกล่าวจริง ก็ขอให้เร่งรัดในกระบวนการทางกฏหมายและทางงบประมาณ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนี้โดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งรัฐบาลเสียงดังและประกาศนโยบายนี้ผ่านสื่อทุกแขนง แต่กลับ “ลดทิพย์” คือผลักภาระให้สถานศึกษารับมือกับข้อเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษาและผู้ปกครองด้วยตนเอง ย่อมทำให้เป็นภาครัฐบาลเองที่เติมเชื้อไฟลงบนความเดือดร้อนของสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image