5ภาคีเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ยื่นหนังสือเรียกร้องความโปร่งใสกระจายวัคซีน

5 ภาคีเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์เข้ายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสในการกระจายวัคซีนภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานที่บริเวณหน้าตึกสภาพยาบาลและสำนักงานปลัดภายในกระทรวงสาธารณสุข ได้มีตัวแทน 5 แนวร่วมบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 7 คน อาทิ หมอไม่ทน ภาคีบุคลากรสาธารณสุข Nurses Connect DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA Thailand) เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสในการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศไทย

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ในประเทศไทย ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อระบบการสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 สะสมรวมกว่า 14.8 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 11.29 ล้านราย และผู้ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม จำนวน 3.51 ล้านราย แต่พบว่ายังคงไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรค Covid-19 ได้ อีกทั้งยังพบว่ามีการระบาดในบุคลากรทางการแพทย์ทั้งที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วกว่า 600 ราย จากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อกว่า 800 ราย แสดงให้เห็นถึงความขาดประสิทธิภาพของวัคซีนที่รัฐบาลจัดสรรให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายพันธุ์เดลต้า ที่มีผลการวิจัยเชิงประจักษ์ว่าสามารถทนต่อวัคซีนที่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการจัดสรรให้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานก่อให้เกิดภาระงานที่หนักมากขึ้นต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เหลืออยู่ และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนขั้นวิกฤตหากยังคงเกิดเหตุการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ Covid-19

นอกจากนี้ นโยบายการบริหารวัคซีนและโรค Covid-19 ของรัฐบาล ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นถึงความล่าช้าในการจัดสรรควัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร และจากความผิดพลาดในการสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชนทั้งในแง่ของความถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ จริยธรรม และความโปร่งใสในการจัดซื้อวัคซีนนั้น ส่งผลกระทบให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคชีนที่มีประสิทธิภาพ เป็นเหตุให้เกิดภาวะวิกฤตในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ความรุนแรงของโรค Covid-19 และความล่าช้าในการจัดสรรวัคซีน ยังส่งผลให้พยาบาลวิชาชีพ ผู้เป็นด่านหน้าในการปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งเสียชีวิต ทั้งจากโรค Covid-19 และจากปัญหาสุขภาพจิต โดยมิได้รับการเยียวยาอย่างสมควรจากสภาการพยาบาลซึ่งควรจะต้องเป็นผู้ดูแลสวัสดิภาพของสมาชิกในองค์กร ซ้ำร้ายยังพบว่ามีพยาบาลวิชาชีพถูกทำร้ายร่างกายขณะปฏิบัติงานโดยผู้ร่วมงานสหสาขาวิชาชีพ รวมไปถึงปัญหาของค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมกับภาระงานของพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานโดยที่สภาการพยาบาลเองนั้นเป็นผู้รับทราบปัญหานี้ แต่มิได้มีแนวทางการเรียกร้องหรือแก้ไขใดที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ดังรายชื่อแนบในฐานะสมาชิกสภาการพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ขอประกาศจุดยืนและข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.การจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค Covid-19 เช่น mRNA vaccine, Protein subun it vaccine อย่างทั่วถึงและรวดเร็วแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน
2.การมีนโยบายการสร้างเสริมสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานที่ดีของวิชาชีพพยาบาล (Positive Practice Environment) เพื่อปกป้องสวัสดิภาพทางกายและจิตใจของผู้ประกอบวิชาชีพจากการคุกคามโดยผู้ร่วมงาน
3.สภาการพยาบาลต้องมีมาตรการในการคุ้มครองเยียวยา เพื่อพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิภาพของสมาชิกสภาการพยาบาล ทั้งในเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และการเยียวยาสมาชิกเมื่อได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงาน

Advertisement

จากที่ได้มีการออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องให้มีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 ที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และเรียกร้องให้สภาการพยาบาลมีนโยบายการสร้างเสริมสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานที่ดีของวิชาชีพ (Positive Practice Environment) รวมถึงมาตรการการคุ้มครองเพื่อพิทักษ์สิทธิ
เสรีภาพ และสวัสดิภาพของพยาบาล โดยมีผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ และผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ได้ร่วมลงชื่อเพื่อรับร่างแถลงการณ์ดังกล่าว

โดยยื่นหนังสือผ่าน รศ.ดร.ศิริอร สินธุ อุปนายกสภาการพยาบาล เพื่อดำเนินการต่อไป โดย รศ.ดร.ศิริอร แจ้งว่าเรื่องนี้จะเอาเป็นธุระ แต่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือ เรื่องนี้คือภารกิจหลักเพราะหากพยาบาลมีคุณภาพชีวิตที่ดีประชาชนจะได้อานิสงส์จากเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มแจ้งว่า ต้องการเห็นการตอบรับที่เป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีการตอบรับใดๆ ก็จะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป

ขณะที่เวลา 11.30 น.หลังเสร็จสิ้นการยื่นหนังสือทางกลุ่มได้เดินทางไปที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน) เพื่อร่วมยื่นหนังสือกับ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โดยทางเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์เรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสในการจัดสรรวัคซีน pfizer ในประเทศไทย ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา หลังเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาการรับมอบวัคซีนดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามแผนการของทางรัฐบาล ระบุว่าจะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 700,000 โดส จากทั้งหมด 1.54 ล้านโดส โดยเนื้อหาใจความระบุว่า

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศในปัจจุบันนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าวันละหนึ่งหมื่นราย และผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่าสี่พันราย นับเป็นหนึ่งในวิกฤตทางสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยได้ประสบมา ณ เวลานี้ บุคลากรสาธารณสุขทุกคนล้วนเหนื่อยล้า ท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วง และเต็มไปด้วยความเสี่ยง บุคลากรจำนวนมากไม่อาจกลับบ้านเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายเดือน ด้วยกังวลว่าจะนำเชื้อโรคไปสู่ครอบครัว บุคลากรหลายท่านต้องขึ้นเวรติดต่อกันแม้ว่าจะตั้งครรภ์อยู่ หลายท่านติดเชื้อโควิดหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกันกับประชาชนทุกท่านที่ล้วนตกอยู่ภายใต้ความลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แม้ว่าบุคลากรส่วนใหญ่ จะได้รับวัคซีน Sinovac แล้วครบ 2 เข็ม แต่ทว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทวีคูณมากขึ้น และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าวัคซีน Sinovac นั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธ์เดลต้าน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น จากข้อมูลปัจุบันในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า บุคลากรติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2,000 ราย ขณะเดียวกัน บุคลากรอีกนับหมื่นรายต้องกักตัวเพื่อตรวจเชื้อซ้ำ ซึ่งลดทอนอัตรากำลังในขณะที่ระบบต้องการบุคลากรมากที่สุด

การประกาศของสถานทูตอเมริกาล่าสุดวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่ระบุว่าสหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีน Pfizer ให้กับประเทศไทยจำนวน 2.5 ล้านโดส โดยจะมีการนำเข้าล็อตแรก มากกว่า 1.5 ล้านโดส ภายในเดือนนี้ และมีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรด่านหน้า ผู้สูงอายุ และผู้มีความเสี่ยงเป็นหลัก จึงเป็นเหมือนหลักประกันให้แก่บุคลากรด่านหน้า ให้พอคลายความกังวลใจได้ว่าจะเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงานน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนในการจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเนื้อหาในเอกสารราชการหลายฉบับ ทำให้ประชาชน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เกิดความวิตกว่า การกระจายวัคซีนจะไม่เป็นไปตามความจำเป็น หรือว่าจำนวนวัคซีน Pfizer ที่ได้รับมาอาจไม่ถูกจัดสรรให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ต้องการ

ด้วยเหตุนี้ พวกเรา ซึ่งเป็นตัวแทนของบุคลากรด่านหน้า ทั้งแพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค รังสี เวรเปล เจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและสัมผัสกับผู้ป่วย ร่วมกับประชาชนกว่า 62,000 คน ที่ร่วมลงชื่อผ่านแคมเปญ change.org/VaccineWeTrust รวมทั้งที่แสดงพลังผ่าน #เก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใคร จึงขอวิงวอนให้ทางกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดสรรวัคซีนเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มอย่างถี่ถ้วน จัดสรรวัคซีนอย่างยุติธรรมให้ผู้ที่สมควรได้รับ รวมถึงเปิดเผยแผนการ และจำนวนการจัดสรรวัคซีน Pfizer ในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรด่านหน้า ซึ่งกำลังรับศึกอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแต่ละวันโดยไม่ทราบชะตากรรม

เพื่อความโปร่งใสและการกระจายวัคซีนให้ถึงมือผู้ควรได้รับตามความเสี่ยงและความจำเป็น หมอไม่ทน, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, Nurses Connect, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand), DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร, นิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย และภาคีเทคนิคการแพทย์ จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

นำวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้ประชาชนคนไทยทุกคน ชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลว่ามีบุคลากรได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสจำนวนเท่าใด และยังเหลือบุคลากรที่ยืนยันจะรับ Pfizer เป็นจำนวนเท่าใด นำข้อมูลสำคัญที่จะพิสูจน์ความโปร่งใสกลับมาบรรจุในระบบ Cold-chain tracking นั่นคือเส้นทางการกระจายวัคซีนโดยระบุยี่ห้อและล็อตต่างๆ ของวัคซีน และเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อแสดงความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤต
มีความชัดเจนในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ แก่ประชาชน ด้วยการรายงานความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนพร้อมหลักฐานยืนยันอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและความไม่มั่นใจ โดยข้อมูลที่สื่อสารจากแต่ละแผนกของหน่วยงานราชการ ควรเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกัน

ทางเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ หวังว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทบทวน ปรับปรุงการทำงานและพิจารณาถึงข้อเรียกร้องข้างต้น เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image